วันจันทร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2556

เผยแพร่ผลงานทางวิชาการ ผอ.ปราโมทย์ พลศักดิ์เดช


ชื่อเรื่อง          :    รายงานการประเมินโครงการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา
                             โรงเรียนรัฐราษฎร์พัฒนา  ปีการศึกษา 2555
ชื่อผู้ประเมิน  :    นายปราโมทย์  พลศักดิ์เดช
หน่วยงาน      :    โรงเรียนรัฐราษฎร์พัฒนา  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 3
ปี พ.ศ.            :    2556

บทคัดย่อ
               การประเมินโครงการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนรัฐราษฎร์-พัฒนา  ปีการศึกษา 2555  ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ทั่วไปเพื่อประเมินโครงการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนรัฐราษฎร์พัฒนา ปีการศึกษา  2555  และมีวัตถุประสงค์เฉพาะเพื่อประเมินสภาพแวดล้อม  (Context)  ความพร้อมด้านปัจจัยนำเข้าหรือทรัพยากร (Input) กระบวนการดำเนินงาน (Process) และผลผลิต (Product) ของโครงการ โดยใช้รูปแบบจำลองซิป   (CIPP Model)   เป็นแนวทางในการประเมิน
               กลุ่มตัวอย่างในการประเมิน จำนวน  87  คน ประกอบด้วย  ครู  นักเรียน  ผู้ปกครองนักเรียนและกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยครู จำนวน  8  คนและกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7  คน ได้จากวิธีการสำมะโน  (Census)  ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลจากทุกหน่วยของประชากร สำหรับนักเรียน จำนวน 21  คน และผู้ปกครอง จำนวน  51  คน ได้จากการสุ่มแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Sampling)
                เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน  ประกอบด้วยแบบสอบถาม  จำนวน  2  ฉบับ  ได้แก่
ฉบับที่  1  แบบสอบถามความคิดเห็นของครูและกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน  เพื่อประเมินความเหมาะสม  ความเพียงพอ  และการดำเนินงานของโครงการ ด้านสภาพแวดล้อม  ด้านปัจจัยนำเข้า  และด้านกระบวนการ 
ฉบับที่  2  แบบสอบถามความคิดเห็นของครู  นักเรียน  กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและผู้ปกครองนักเรียน  เพื่อประเมินความพึงพอใจด้านผลผลิตของโครงการ โดยแบบสอบถามทั้ง  2  ฉบับ  ผู้ประเมินได้สร้างและหาคุณภาพ  มีค่าความเที่ยง  0.92  และ  0.95  ตามลำดับ
               การวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมสำเร็จรูป  SPSS for Windows เพื่อหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
               สรุปผลการประเมิน
                      1.  ด้านสภาพแวดล้อม  (Context)   พบว่า หลักการ วัตถุประสงค์ และเป้าหมายของโครงการ ทั้งโดยรวมและรายประเด็นย่อยมีความเหมาะสมอยู่ในระดับเหมาะสมดีแล้ว
                      2.  ด้านปัจจัยนำเข้า  (Input)   พบว่า บุคลากร วัสดุอุปกรณ์ และงบประมาณโดยรวม
มีความเพียงพออยู่ในระดับเพียงพอดีแล้ว เมื่อพิจารณารายประเด็นย่อย บุคลากรมีความเพียงพออยู่ในระดับเพียงพอดีแล้ว ส่วนวัสดุอุปกรณ์ และงบประมาณมีความเพียงพออยู่ในระดับต้องปรับปรุง
                      3.  ด้านกระบวนการ  (Process)   พบว่า การดำเนินงาน กิจกรรมและการประเมินผล         ทั้งโดยรวมและรายประเด็นย่อยมีการดำเนินงานอยู่ในระดับดำเนินงานดีแล้ว  
                      4.  ด้านผลผลิต  (Product)  พบว่า ผลผลิตจากโครงการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โดยรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับพึงพอใจ ดีแล้ว   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น