วันพุธที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วารสาร19


ทักทายกัน....ประสาพี่น้อง
    พาเด็กๆไปเที่ยวตอนต้นเดือนที่สวนสัตว์โคราช ไปกันทั้งโรงเรียนตั้งแต่อนุบาล - ป.รวมทั้งครูและผู้ปกครองของนักเรียน ร่วมๆ 160 คน ใช้รถบัส 3 คัน สำหรับเด็กๆ นั้น สนุกสนานกันเต็มที่ ส่วนครูเรานั้นเหนื่อยเอาการเลยครับ แต่เป็นภาระงานที่ต้องทำ เพื่อพัฒนาเด็กๆของเรานั่นเอง
     ปิดท้ายเดือนด้วยบุญกฐินของวัดห้วยเสน ปีนี้จัดเป็นงานใหญ่ เพราะพี่น้องบ้านเราถือโอกาสทำบุญฉลองศาลาหลังใหม่ด้วย มีกิจกรรมหลายอย่างให้ร่วมบุญ โรงเรียนของเราก็พาเด็กๆ ไปศึกษาดูงาน และร่วมทำบุญอย่างมีความสุข ซึ่งบรรยากาศของงานวัดนั้นเต็มไปด้วยสีสันและความรื่นเริง ก็คงช่วยให้พี่น้องบ้านเราที่เหน็ดเหนื่อยจากการทำงานได้เติมสุขให้ชีวิตเป็นอย่างดี  นะครับ
กิจกรรม
-ประชุมผู้ปกครองนักเรียน  (6 พ.ย.55)







-ทัศนศึกษาที่ จ.นครราชสีมา  (9 พ.ย. 55)









-เกี่ยวข้าวนาโรงเรียน (20 พ.ย. 55)










-รับประเมินเตรียมความพร้อมเทอม 2  (21 พ.ย. 55)







-งานบุญกฐินฉลองศาลา วัดห้วยเสน บ้านรัฐราษฎร์พัฒนา (25-28 พ.ย. 55)









เก็บเรื่องราวมาเล่าบอก
                   ... จดหมายถึงพ่อ  ...
                                                เขียนที่ท้องทุ่งนา จ.สุรินทร์
23  พ.ย. 2555
ถึงคุณพ่อที่รักและเคารพ
     เสียงปี่ซังข้าว ที่แหบพร่า ถูกกลืนกลบด้วยความอึกทึกของเครื่องยนต์รถเกี่ยวข้าวเมดอิน Japan กลางท้องทุ่ง
อีกฟากหนึ่ง ผู้จัดการนา กำลังสั่งการผ่านโทรศัพท์เมดอิน China เพื่อเตรียมทุกอย่างให้พร้อมสำหรับการเก็บเกี่ยว โดยให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งวันให้จงได้ ประหนึ่งว่า ถ้าหากเลยล่วงเวลาไปกว่านั้น จักต้องโทษประหารเจ็ดชั่วอายุคน
     ทุ่งรวงทองที่เคยอวดความงามล้อลมหนาวในอดีตหมดมนต์ขลังเสียแล้วกระมัง เพราะแม้แต่ไอ้ขวัญก็ยังทิ้งขลุ่ย หันไปเล่นกีตาร์ พานังเรียมซ้อนแมงกะไซค์มาเย้ยเจ้าทุยที่เล็มหญ้าน้ำตาคลออยู่ข้างทาง..โอ  อนิจจัง.....
     จะว่าคนอื่นไปทำไมเพราะแม้แต่ผมเองก็ยังโดนพ่อขับใสออกมาจากอาชีพชาวนา โดยยกเหตุผลนานาประการมาอ้าง ก็เอาเถอะ เพราะทางที่ผมเดินมานั้นมันไกลพอดู ไกลพออย่างที่พ่อหวังไว้หรือเปล่าก็ไม่รู้  ก็ถือว่าเป็นการแสวงหาความท้าทายใหม่ในชีวิต  แต่สำหรับผม ทุกครั้งที่ตักข้าวเข้าปาก ผมคิดถึงพ่อและพี่น้องชาวนาทุกคน
     แม่เล่าให้ผมฟังว่า ในช่วงที่ผมเกิดนั้น พ่อต้องทำนาคนเดียว 30 กว่าไร่
....หนึ่งรอบปีนั้นเริ่มด้วย ใช้ควายไถนา ถอนกล้าด้วยมือ แล้วปักดำด้วยมือ จนเสร็จสิ้น กระทั่งข้าวสุก ก็เกี่ยวข้าวทีละรวง แล้วมัดเป็นฟ่อน จึงขนฟ่อนมากองไว้บนลานเพื่อทุบข้าวให้เหลือแต่เมล็ด ปิดท้ายด้วยขนใส่เกวียนขึ้นยุ้งฉาง....
คนที่สูง 168 ซม. หนัก 60 กิโลกว่าๆ ไปเอาพละกำลังมาจากไหน แต่ละวัน แต่ละเดือนรวมเป็นปีที่ผ่านไป พ่อซ่อนความสุขไว้ที่ซอกมุมไหน เพราะเห็นพ่อยิ้ม และหัวเราะให้กับพวกเราเสมอในวงข้าวมื้อเย็น     เครื่องประทินผิวประเทืองโฉมเช่นทุกวันนี้ไม่มีโอกาสได้สัมผัสผิวพ่อ แต่พ่อรู้ไหมว่าเวลาที่แม่พูดถึงพ่อ แม่เขารักและภูมิใจในตัวพ่อมาก    ต่างจากสมัยนี้ที่เครื่องทำให้งามภายนอกเกลื่อนไปทั่ว แต่ผู้คนก็ไม่เห็นจะรักกันสักเท่าไร
        พ่อครับ ทุกวันนี้มีกลุ่ม มีองค์กร เยอะไปหมด มีทุกอาชีพ จุดหมายก็ว่าก่อตั้งเพื่อเราๆ นะแหละ  แต่เอาเข้าจริงๆ ชักไม่แน่ใจ แล้วละครับ  ผมก็เลยจัดตั้งสมาคมของตัวเองขึ้นมาบ้าง ชื่อว่า  ส.ลชมก. และขอมอบรางวัลให้พ่อเป็นรายแรก
สมาคมลูกหลานชาวนาที่ไม่ลืมกำพืด (ส.ลชมก.)ขอประกาศให้โลกทราบว่า นายทองดี  พลศักดิ์เดช ผ่านการประเมินการเป็นชาวนา ในระดับยอดเยี่ยม (สมาคมนี้เพิ่งก่อตั้ง ความเชื่อถือยังไม่มาก รอบแรกนี้ประเมินให้ฟรีก่อนนะ)
ดีใจด้วยนะพ่อ ในที่สุดก็มีโอกาสได้รับรางวัลกะเขาซักที  (ฮา)………..
     พ่อจำได้ไหมวันนี้เป็นวันที่พ่อจากพวกเราไป  เมื่อเช้าผมตื่นมาใส่บาตรแล้วและคิดว่าแม่ก็คงไม่พลาดเช่นกัน  เสียใจด้วยนะพ่อ ที่ไม่มีใครสร้างอนุสาวรีย์ให้กับคนธรรมดาสามัญอย่างเรา แต่ผมได้สร้างไว้แล้วละ ที่ที่กฎหมายไปไม่ถึง  ซึ่งมันอยู่ในใจของผมงัยครับ  นัยยะแห่งการใช้ชีวิตของพ่อทำให้รู้ว่า
ความสุขสบายไม่เคยจริงใจกับใคร มีเพียงความทุกข์ยากเท่านั้นที่สร้างคนจริง
     ในเทศกาลวันพ่อนี้ ผมขอใช้สิทธิ์ของความเป็นลูก  ปวารณาตนเองเพื่อการ ทำความดี และประกอบสัมมาอาชีพอย่างเต็มกำลัง
เช่นที่พ่อทำเป็นแบบอย่างไว้  เพื่อระลึกว่าเลือดของชาวนายังคงไหลเวียนอยู่ในร่างกายของผม  นั่นเอง
                                รักพ่อเสมอและตลอดไป
                                                ลูกชาย

ขอบคุณข้อมูล :   คุณแม่ฉาย  พลศักดิ์เดช


   ...แนะนำบุคลาก....
นางสมัย   จอกทอง      ไหม





26  กุมภาพันธ์  2515
ตำแหน่ง
ครูประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.ณรงค์
สถานะ     นักศึกษาฝึกประสบการณ์
               
                             ณ วันนี้   ทำดีที่สุด

วันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วารสาร18


ทักทายกัน....ประสาพี่น้อง
   ...พี่น้องเราได้พักรบกับพวกลิงทโมน กว่าครึ่งเดือนแล้วก็คงมีพลัง และมีแรงลุยงานสำหรับเทอมใหม่นี้นะครับ     ช่วง 10-11 ต.ค.55 ที่ผ่านมาอ.พนมดงรัก เป็นเจ้าภาพจัดการประกวดแข่งขันความเป็นเลิศทางวิชาการของ สพป.สร.3  ครู 7 คน เด็ก 6 คนใน 4 รายการที่เข้าแข่งขัน ได้มา 2 ทอง     1 เงิน  1 ทองแดง ได้เป็นตัวแทน 1 รายการ ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งสำหรับโรงเรียนของเรา       อากาศที่แปรปรวนไปเรื่อยนั้น ทำให้หลายสิ่งอย่างรอบตัวเราเปลี่ยนไป  ตามทันบ้าง ไม่ทันก็มี  ถึงแม้ว่าอะไรๆ จะเปลี่ยนแปลงก็ตาม  แต่ขอให้สำนึกแห่งความเป็นครูของเรามั่นคง ก็เพียงพอแล้ว    ยินดีต้อนรับสู่ปีงบประมาณ 2556 ครับ
 ...ความกล้าหาญทางจริยธรรม (Moral Courage)...
      “ยิงเลยฉันมันก็แค่ผู้ชายธรรมดาคนนึง  คือประโยคสุดท้ายในชีวิตของ เช เกบารา (Che Guevara)     ก่อนที่ทหารโบลิเวีย จะประหารชีวิตของเขา เมื่อ 9 ตุลา1967       นักปฏิวัติผู้ยอมละทิ้งความมั่งมีและฐานันดร จนได้รับยกย่องว่าเป็นคนที่สมบูรณ์แบบที่สุดในโลกของศตวรรษนั้น  มีสิ่งใดที่ผลักดันให้เขาเป็นอย่างนั้น?
     ย้อนเวลาไป 300 ปีก่อนคริสตกาล   Socratesอมดื่มยาพิษเพื่ออุดมการณ์ของตนเอง  แต่เขาได้ทิ้งอภิปรัชญา                                                    อันยิ่งใหญ่ไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษา....
.....เสียงปืนที่ห้วยขาแข้ง เมื่อวันที่ 1 กันยา 2533  ได้ปลิดชีพ        สืบยศ  นาคะเสถียร  จากไป แต่ได้ก่อให้เกิดกระแสแห่งการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ที่เป็นรูปธรรมขึ้น
         แม้ยุคสมัยและผืนแผ่นดินเกิดจะต่างกัน  แต่ความหมายแห่งการมีชีวิตอยู่ ของวีรบุรุษเหล่านี้ ไม่ได้แตกต่างกัน คือ  เปี่ยมด้วยอุดมการณ์และกล้าหาญทางจริยธรรม
   พระมหาวุฒิชัย(ว.วชิรเมธี)  ได้ให้ความหมาย ความกล้าหาญทางจริยธรรมไว้สองระดับ คือ หนึ่ง รักในความเป็นธรรม ความถูกต้อง และความจริง    สอง ความกล้าที่จะทำในสิ่งที่เป็นธรรม ถูกต้องและดีงาม
       ในตัวตนคนเรานั้น ถ้าไม่แย่จริงๆ ผมคิดว่าทุกคนน่าจะมีและผ่านระดับที่หนึ่งได้ แต่ปัญหาอยู่ตรงที่คนส่วนใหญ่ก้าวข้ามผ่านระดับที่สองค่อนข้างยาก ด้วยสาเหตุหลายประการ เป็นต้นว่า เกรงจะเสียประโยชน์เสียสถานะตนเอง เกรงจะเข้าพวกเข้ากลุ่มไม่ได้  สังคมรอบด้านบีบคั้น ใครๆ ก็ทำทั้งนั้นแหละ   จึงสมยอมที่จะลอยไปตามกระแส    เมื่อจุดหมายที่แท้ของการจัดการศึกษา คือ สร้างคนให้เป็นคนโดยสมบูรณ์  แล้วคนที่สมบูรณ์นั้นเป็นอย่างไร เพียงอุดมคติหรือคำโกหกของนักการศึกษา เพราะปรัชญาการศึกษาไทยเวลานี้ไปบรรจบอยู่ที่การสนองกิเลส อัตตา หรือ ตัวกูของกู  ปรากฏการณ์แปลกๆ จึงเกิดขึ้นในสังคม อาทิ การยกพวกตีกันระหว่างสถาบัน การแก่งแย่งกันเข้าโรงเรียนดัง  นักศึกษาขายตัวเพื่อแลกเกรด       ครูอาจารย์คุกคามนักเรียนนักศึกษา เป็นต้น และเมื่อผ่านพ้นรั้วโรงเรียนมาแล้ว     ก็ยังพบเห็นความไม่เป็นธรรมระหว่างคนต่อคน อาชีพต่ออาชีพ สังคมต่อสังคม  
       หากปัจจุบันเป็นผลจากอดีต อนาคตก็ย่อมเป็นผลจากปัจจุบัน  พฤติกรรมของคนในปัจจุบัน ย่อมสะท้อนผลการจัดการศึกษาที่ผ่านมา ได้ชัดเจนที่สุด       ถ้าการจัดการศึกษายังย่ำอยู่อย่างนี้  เราน่าจะเห็นเค้าลางของอนาคตแล้วละ
       ตัดประเด็นเรื่องการกล่าวโทษสิ่งต่างๆ ออกไป เพราะหลายอย่างเราไม่สามารถจัดการได้ เราจะมีแนวทางในการสร้างความกล้าหาญทางจริยธรรมให้แก่นักเรียนของเราได้อย่างไรตอบยากนะครับ เพราะถ้าตอบได้ ผมคงทำFranchiseเพื่อแจกจ่ายให้ทุกโรงเรียนนำไปพัฒนานักเรียนของตนแล้ว (ฮา...)
     แต่ผมเชื่อว่า ต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน คือครูจะต้องมีความกล้าหาญทางจริยธรรมเพื่อเป็นตัวแบบให้กับเด็กๆ ในลักษณะร่วมเรียนรู้และจูงมือกันไป  ซึ่งนั่นจะทำให้องศาของอนาคตเบี่ยงไปยังทิศทางที่เราต้องการได้
เมล็ดข้าวที่เราหว่านลงดิน มิได้เกิดและเติบโตทุกเมล็ด  แต่มันจะต้องมีสักเมล็ดที่งอกงามได้
          กระบวนการสร้างคนก็เฉกเช่นเดียวกัน...........
ขอบคุณข้อมูล    
www.wikipedia.org. /www.mcu.ac.th
   ...แนะนำบุคลาก....
นางหนึ่งฤทัย  ศรีผดุง
ครูจิ๋ว
13  พฤษภาคม  2519
ตำแหน่ง
(รก.)หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.ณรงค์
สถานะ     นักศึกษาฝึกประสบการณ์
               
                             “ทำวันนี้   ให้ดีที่สุด



วันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วารสาร17


       ทักทายกัน....ประสาพี่น้อง
       เริ่มต้นเดือนด้วยการเลี้ยงส่งครูสฤษฎ์พงศ์ ถนัดเพิ่ม (นิน) และส่งท้ายด้วย เลี้ยงเกษียณ (ลาออก) นายมนต์  บุทอง (ตามน) ช่างไม้ 3    ใจหายนะครับสำหรับ 2 คนที่จากโรงเรียนเราไป  แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นธรรมดาของข้าราชการอย่างเรา
ขอขอบคุณทั้งสองท่านที่ได้ทุ่มเททำงานอย่างเต็มกำลังเมื่อครั้งอยู่ด้วยกัน ก็ขอให้ได้พบเจอแต่สิ่งที่ดีงามนะครับ
     ช่วงกลางเดือนเด็กๆ ได้ร่วมแข่งขันวิชาการเครือข่าย 23 ที่ ร.ร.บ้านตะโนน ครูของเรา 7 คน ส่งเด็ก 52 คน ใน 31 รายการ
ได้ 16 ทอง 6 เงิน 7 ทองแดง (เป็นตัวแทนเครือข่าย 5 รายการ) ต้องขอบคุณคณะครูที่ได้ร่วมฝึกซ้อมอย่างแข็งขันและที่สำคัญคือ ขอบใจเด็กๆ ที่ได้ตั้งใจและร่วมแข่งขันอย่างสมศักดิ์ศรีทุกคน นะครับ
เก็บเร่ืองราวมาเล่าบอก
...ทบทวนคำโบราณ  ในกาลปัจจุบัน....
        ความฮือฮาในช่วงเดือนที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นการท้าทายและทวงถามให้ทบทวนความถูกต้องของภาษิตโบราณ
    “รักวัวให้ผูก รักลูกให้(ตี หรือ กอด)”  ที่คนไทยใช้เป็นแนวทางสอนลูกหลานกันมารุ่นต่อรุ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าคิดอยู่ไม่น้อย ในสังคมยุคลูกเทวดา อย่างนี้  แต่ข้อสรุปจากราชบัณฑิตยสถาน คือ ไม่เปลี่ยน   ก็เป็นอันว่า จบข่าว
ส่วนวงสนทนารอบนอกอย่างเราๆ ท่านๆ ก็คงได้คุยกันอีกยาวละครับ
       เพื่อไม่ให้ตกกระแส ผมก็เลยลองมองหาภาษิตและคำสอนที่เกี่ยวกับเด็กๆ และการศึกษาของเรา ว่ามีอะไรพอจะหยิบยกมาเป็นประเด็นได้บ้าง ก็ไปสะกิดใจกับคำสอนร่วมสมัยที่ว่า เด็กๆ ต้องเรียนให้มาก โตขึ้นจะได้สบาย  ฟังเหมือนไม่มีอะไรนะครับ  จนกระทั่งหลายวันก่อน ญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง แกล้งกระเซ้าผมว่า เป็น ผอ. แล้วคง สบาย ขึ้นนะ ผมจำไม่ได้แล้วว่าตอบท่านไปอย่างไร แต่คำถามนี้มันรบกวนจิตใจผมมาตลอด ทำให้ผมสงสัยว่าคนส่วนใหญ่ ตีความว่า สบาย คืออะไร  เมื่อย้อนดูการทำงานร่วมกับพี่น้องเพื่อนครูของผมตลอดสิบห้าปีมานี้  พบความจริงที่น่าตกใจประการหนึ่งว่า พลังแห่งการสร้างสรรค์ การพัฒนาและความตื่นตัวของครูถูกจำกัดและแห้งหายไปเรื่อยๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้วงการครูของเราสูญเสียอัจฉริยภาพในตัวครูไปอย่างน่าเสียดาย  เป็นไปได้หรือไม่ว่า ครูเรากำหนดใจไปบังคับกายให้เชื่อว่า ความสบาย คือ การทำงานให้น้อยลง  ผ่อนแรงลง จนถึงขั้นไม่ทำอะไรเลย (ด้านวิชาการ) ท่านว่าจริงมั้ย....
           คำสอน ที่ให้เด็กๆ ทำทุกอย่างเพื่อให้โตขึ้นจะได้ สบาย นั้น เดินมาถูกทางมากน้อยเพียงใด
ถ้าเด็กๆ คิดว่าการพ้นวัยเด็กคือการมีงานทำ ความสบาย จะมาหา ดังคำสอนข้างต้น   และถ้าเขาเชื่อว่าความสบาย คือ การหยุดคิด
 หยุดพัฒนา แล้วหันมาดื่มด่ำกับความสะดวก นานาประการแล้วนั้น   ภาพของสังคมเราในภายหน้าจะเป็นอย่างไร?
    ฝากไว้ให้คิด  
      ลองย้อนดูเส้นทางชีวิตของตนเองตั้งแต่เป็นเด็กสิครับ ว่าก่อนที่จะมายืน ณ จุดนี้ได้นั้น เราต้องอดทน และเพียรพยายามมากเพียงใด  เก่งกาจขนาดไหน แล้วเราจะทิ้งพลังแห่งความอหังการของเราไป เพียงเพราะความอยากสบาย เท่านั้นหรือ
   บทส่งท้าย                                                                               
ภาษิตหรือคำสอน นั้นอาจจะไม่ใช่ทั้งหมดที่สร้างให้เราเป็นเรา     แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันสอดซ่อนอยู่ในความเชื่อ มาสู่วัตรปฏิบัติ     จนกลายเป็นกฎเกณฑ์และหล่อหลอมเป็นวิถีชีวิตของเราในที่สุด
    ผมไม่ได้มีเจตนาที่จะเรียกร้องให้เปลี่ยนคำสอนไปตามกระแส          หรอกนะครับ เป็นเพียงการตั้งข้อสังเกต ในแง่มุมนักการศึกษา ซึ่งมีหน้าที่สร้างคนเพื่อจรรโลงสังคมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน เท่านั้น   
      ถ้อยคำอาจไม่ต้องเปลี่ยน ที่ควรเปลี่ยนคือความคิดและความเชื่อ เพราะมันจะช่วยปรับแนวทางชีวิตของเราให้ถูกต้อง  นั่นเอง       
 ขอบคุณข้อมูล    http://www.kruthai.infoและ www.google.co.th

....แนะนำบุคลากร.....

ฉายา     พระพุทธา    จตฺมโล          เจ้าอาวาสวัดห้วยเสน

      สถานะ
   คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานร.ร.รัฐราษฎร์พัฒนา    ท่านเป็นผู้นำในการพัฒนาคุณธรรมของคนในชุมชน และวัดห้วยเสนเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญยิ่งของพวกเรา

ธรรม  ย่อมรักษา  ผู้ประพฤติธรรม



วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555

วารสารฉบับ16


ทักทายกัน....ประสาพี่น้อง
         งานวันแม่ของโรงเรียนเราในปีนี้ คุณครูวินิจ  วงเวียน  มาขับเสภา พระคุณแม่ ให้ฟัง ทำเอาน้ำตาซึมกันทั้งงานเลย
นอกจากค่าตัวฟรีแล้ว ท่านยัง บริจาคเงินร่วมงานอีกด้วยครับ
          มีหลายต่อหลายคนที่เกษียณ อายุราชการไปแล้ว แต่ยังคงไขว่คว้าหาอำนาจและบารมี ให้กับตนอย่างไม่ลดละ  จะมีครูสักกี่คนที่เพียรถ่ายทอดความรู้อย่างบริสุทธิ์ใจให้แก่ผู้อื่น และสามารถเป็นแรงบันดาลใจ (inspiration) ให้กับคนอื่นได้   
       ขอบคุณ ครูวินิจ วงเวียน ที่ทำให้หัวใจแห่งความเป็นครูของข้าพเจ้า พองโตขึ้น
                              ........ขอคารวะคุณครูครับ......

                                                ปราโมทย์  พลศักดิ์เดช
กิจกรม
-ครูและนักเรียนร่วมทำบุญเข้าพรรษา  (1 ส.ค. 55)
-คณะกรรมการนักเรียนรับมอบตำแหน่ง  (20 ส.ค. 55)
-ทาสีใหม่ให้ห้องสมุด
-สี TOA บริจาค (6 ส.ค. 55)
-ประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาฯ (30 ส.ค. 55)

-ร่วมประชุมเครือข่าย ที่ อ.ศรีณรงค์ (31 ส.ค. 54)
-วันแม่ และทำบุญโรงเรียน (10 ส.ค. 55)
-ไหว้พระคุณแม่            
 -ทำบุญร่วมกัน
-ครูวินิจ วงเวียน ขับเสภา              
-นักเรียนแสดงที่ อบต.ณรงค์ (12 ส.ค. 55)


      อโรคยาศาลเจียงเป็ย.....
วิถีชีวิตและรากเหง้าแห่งความศรัทธา
     ข่าวคราวความอาถรรพ์ของปราสาทช่างปี่ ช่วงสิงหาคมที่ผ่านมา ทำเอาคนสุรินทร์อย่างข้าพเจ้าต้องหยุดคิดสะกิดตัวเองว่า มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่…………                                                         
   เนื้อข่าว  
      มติชน เสนอข่าวว่า  มีคนนำวัตถุโบราณที่ขุดพบ       จากปราสาทช่างปี่ไป จึงเป็นเหตุให้มีชาวบ้านในพื้นที่     เสียชีวิตอย่างไม่ทราบสาเหตุไปแล้วจำนวน 33 ราย เชื่อ  เป็นเพราะอาถรรพ์แห่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขององค์ปราสาท     ช่างปี่  นอกจากนั้นยังมีเหตุไฟไหม้โรงเรียน และมีพายุ ใหญ่พัดถล่มบ้านเรือน ในเขตพื้นที่ตำบลช่างปี่กว่า10 หมู่บ้านจน  เสียหายกว่าร้อยหลังคาเรือน  จึงทำให้ชาวบ้านจำนวนมากจากหลายหมู่บ้านทั้งในตำบลช่างปี่ และตำบลข้างเคียง เดินทางนำเครื่องเซ่นไหว้มาบวงสรวงเพื่อขอขมาต่อทวยเทพที่รักษาองค์ปราสาทอย่างไม่ขาดสาย  รวมทั้งได้บริจาคที่ดินคืนให้ทางวัด เพื่อเป็นเขตปราสาท อีกด้วย
        ตำนานและความเชื่อ                                                                                   
ปราสาทช่างปี่ เป็นอโรคยศาล หรือ อโรคยศาลา หรือโรงพยาบาล หนึ่งในจำนวน 102 แห่ง ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมโบราณ โปรดให้สร้างขึ้น ตั้งอยู่ที่บ้านช่างปี่ ตำบลช่างปี่ อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 18 มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยศิลาแลง และหินทราย
           ตั้งแต่ปี 2553 กรมศิลปากร ได้ทำการบูรณะปราสาทช่างปี่ พบโบราณวัตถุจำนวนมากส่วนหนึ่งนำไปเก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑ -             
  สถานแห่งชาติ สุรินทร์ อีกส่วนหนึ่งเก็บรักษาไว้ที่วัดบ้านช่างปี่                 
หลากมุมมอง
จากข่าวที่เสนอไป ก็ทำให้คนที่เสพข่าว มองคนสุรินทร์เราเป็นสองทาง คือ เชื่องมงายทางหนึ่ง อีกทางหนึ่งก็ว่าไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ซึ่งถ้าวิพากษ์โดยยึดหลักความเชื่อมาว่ากัน จะเห็นว่าความเชื่อกระแสหลักปัจจุบันมุ่งให้คนรับใช้วิทยาศาสตร์ ดังนั้นแล้วย่อมจะมองว่างมงาย ไม่สมเหตุผล แต่ความเชื่อกระแสรองที่หยั่งรากลึกตั้งแต่อดีต ได้ทำหน้าที่รับใช้ชุมชน จนกลายเป็นขนบประเพณีนั้น  ย่อมเห็นว่าการทำพิธีกรรมนั้นเหมาะควรแล้ว  ข้าพเจ้าเป็นชาวสุรินทร์โดยกำเนิด เติบโตมาก็พบเห็นการเซ่นสรวงบูชา จนกลายเป็นเรื่องธรรมดา และมีความเชื่อว่าการแสดงความอ่อนน้อมต่อผู้อื่นหรือสิ่งอื่นจะช่วยจรรโลงให้เราอยู่ร่วมกันได้      จึงขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องชาวช่างปี่ได้ผ่านพ้นเรื่องราวนี้ไป  และให้รักษา      อัตลักษณ์ที่เข้มแข็งของชุมชนนี้ไว้ อย่างภาคภูมิ
                บทส่งท้าย
การพูดถึงเรื่องของความเชื่อนั้นเปราะบางยิ่งนัก  ซึ่งในประเด็นนี้ ครูเราจะคิดอ่านประการใดก็ตามแต่  เพียงให้ตั้งมั่นในความดีงามและปฏิบัติตามหน้าที่อย่างfเต็มกำลัง  เท่านี้ก็ถือว่า เราได้เชื่ออย่างถูกต้องแล้วละครับ                                                                                           
 ขอบคุณข้อมูล    http://www.matichon.co.th และ tripsurin.wordpress.com
 ....แนะนำบุคลากร.....
ชื่อ  นางทุมพร
สกุล  บุตรงาม
ชื่อเรียก  ป้าเหมียว                              

      สถานะ
   คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานร.ร.รัฐราษฎร์พัฒนา    ท่านมีความสามารถด้านการทำอาหาร และเป็นแม่ครัวประจำของ ร.ร.  ทั้งยังเป็นบุคคลสำคัญในการพัฒนาชุมชน ถือว่าท่านเป็นครูภูมิปัญญาของพวกเรา

ความพยายาม  นำมาซึ่งความสำเร็จ



วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2555

วารสารฉบับที่15


ทักทายกัน....ประสาพี่น้อง
      ผมมีโอกาสเป็นคณะกรรมการสอบครูผู้ช่วยในครั้งที่ผ่านมาได้เห็นวิธีการและกระบวนการแล้ว ก็ต้องยอมรับว่ารัดกุมและน่าเชื่อถือมาก  แต่อีกนัยหนึ่งมันก็บ่งบอกให้รู้ว่า ยังมีคนที่จ้องจะเอาเปรียบคนอื่นในทุกวิถีทาง จึงเป็นความเศร้าเล็กๆ ที่แฝงอยู่ในใจ ประกอบกับได้มีผู้ถูกคุมประพฤติมาเก็บชั่วโมงงานที่โรงเรียน ก็ยิ่งทำให้เกิดความคิดว่า จิตใจที่ดีงามของคนในสังคมลดน้อยลงอย่างน่าตกใจ เหมือนสังคมนี้กำลังเจ็บป่วย  คนในวงการศึกษาอย่างเราเปรียบไปก็เหมือนเม็ดเลือดขาวของสังคม  ก็ขอให้พี่น้องเรามีกำลังกายและใจในการเอาชนะโรคร้ายที่จะมาทำลายวงการ ศึกษาและสังคมของเรา  ให้สิ้นไปนะครับ
ขอเป็นกำลังใจให้

                                                ปราโมทย์  พลศักดิ์เดช
กิจกรรม
-กิจกรรมการเดินสวนสนามและทบทวนคำปฏิญาณตนในวันลูกเสือ  (4 ก.ค.55)
-กิจกรรมอบรมคุณธรรม ณ วัดโมฬีวงษา ต.ตรวจ อ.ศรีณรงค์  (12-13 ก.ค.55)
-กิจกรรม การจับรางวัลผู้โชคดีทายผลฟุตบอล ยูโร 2012 (5 ก.ค.55)
-ผู้ถูกคุมประพฤติอาสาพัฒนาโรงเรียน (11 ก.ค.55)
-การต่อเติมเวทีใหม่ ในโรงอาหาร
-การต่อเติมห้องสมุด
-การทำที่เผาขยะ
เก็บเรื่องราวมาเล่าบอก
        ...อัตลักษณ์ และ เอกลักษณ์ ..???
        ปลายเดือนที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชิณวัตร  มาเยี่ยมสุรินทร์ เป็นการมาประชุมสัญจรของคณะรัฐมนตรี
        คำโบราณท่านว่า ช้างเหยียบนา  พระยาเหยียบเมือง  คนสุรินทร์อย่างเราก็อดภูมิใจไม่ได้  หวังว่าอะไรๆ ก็คงจะดีขึ้นนะครับ
       ทุกท่านคงทราบว่าช่วงนี้ หลายๆ โรงเรียนกำลังรับการประเมินภายนอกรอบที่สามจาก สมศ. เชื่อว่าคงจะระดมสรรพกำลังและร่ายเพลงยุทธ์กันอย่างเต็มที่ ก็ขอเป็นกำลังใจให้ผ่านการประเมินอย่างดีเยี่ยมเพื่อเป็นหลักประกันและเป็นเกียรติเป็นศักดิ์ศรีแก่โรงเรียนสืบไป
      สำหรับการประเมินในรอบดังกล่าวนี้ มีคำที่น่าสนใจเกิดขึ้นสองคำ คือ อัตลักษณ์ และ เอกลักษณ์ ซึ่งสร้างความสับสนให้พี่น้องเราไม่น้อย จึงขออธิบายความ ดังต่อไปนี้      
     อัตลักษณ์ (Identity) หมายถึง ผลที่เกิดกับผู้เรียนตามวิสัยทัศน์ และวัตถุประสงค์ของสถานศึกษา
     เอกลักษณ์ (Uniqueness) หมายถึง ความสำเร็จตามจุดเน้นที่สะท้อนให้เห็นเป็นลักษณะโดดเด่นเป็นหนึ่งของสถานศึกษา
     ถ้าพูดเป็นภาษาปาก ก็บอกว่าอันหนึ่งเกิดกับนักเรียนอีกอันหนึ่งเกิดกับโรงเรียน  น่าจะกระชับความเข้าใจได้ยิ่งขึ้น
      การกำหนดอัตลักษณ์ของโรงเรียนนั้น จะต้องวิเคราะห์สภาพ แวดล้อม ความเป็นมา และเจตนารมณ์ในการจัดตั้งสถานศึกษา  จากนั้นจึงกำหนดผลที่เกิดกับผู้เรียนก่อนสำเร็จการศึกษา เพื่อเป็นการส่งเสริมความเป็นเลิศเฉพาะทางของนักเรียน  ซึ่งจะต้องผ่านการพิจารณาร่วมกันระหว่างผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยมีทั้งกิจกรรมการส่งเสริม การพัฒนา และการประเมินผล อย่างเป็นระบบ เพราะหากโรงเรียนไม่ตระหนักในเรื่องความเป็นเลิศเฉพาะทางของนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนของตนแล้ว ความโดดเด่นของเยาวชนจะสูญหายไป

     นอกจากนี้แล้วยังมีคำที่ใกล้เคียงกันและมีความหมายบางส่วนทับซ้อนกับทั้งสองคำ ข้างต้นนั้นด้วย ได้แก่
     ภาพลักษณ์ (Image)  หมายถึง ภาพที่เกิดขึ้นในจิตใจของบุคคลตามความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อองค์การ สถาบัน บุคคล หรือการดำเนินงาน ซึ่งเป็นผลมาจากการได้รับประสบการณ์โดยตรงหรือทางอ้อมที่บุคคลนั้นรับรู้มา
     สัญลักษณ์ (Symbol) หมายถึง สิ่งที่ใช้แทนความหมายของอีกสิ่งหนึ่ง อาจจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม  ซึ่งใช้ในการสื่อความหมายหรือแนวความคิดให้มนุษย์เข้าใจไปในทางเดียวกัน

      ส่วนคำว่า ยิ่งลักษณ์ (Yingluck) นั้น ขอไม่อธิบายความ นะครับ....


 ...แนะนำบุคลาก...
ชื่อ นายชัยชนะ       สกุล  มุ่งงาม           ชื่อเรียก  หมอนะ                
      สถานะ
      ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลณรงค์
ผู้มีมาดสุขุมนุ่มลึกและเปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์ เป็นคุณหมอใจดีของเด็กๆ  ซึ่ง รพ.สต.ณรงค์ เป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชนและเป็นเครือข่ายการศึกษาที่ดียิ่งสำหรับโรงเรียนของเรา        
ทำวันนี้ ให้ดีที่สุด





ขอบคุณข้อมูล    www.thaiall.com  , www.moe.go.th ,  www.wikipedia.org
และ ผอ.สุเมธศักดิ์  ทองอ้ม