วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

วารสารฉบับที่29

                                                        อาลัย...สมเด็จพระสังฆราช
 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก  สิ้นพระชนม์ลงในค่ำวันที่ 24 ต.ค.56  ที่ผ่านมา  ยังความเสียใจแก่พุทธศาสนิกชนชาวไทย เป็นยิ่งนัก โดยสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศให้สถานที่ราชการลดธงครึ่งเสาเป็นเวลา 3 วัน
และให้ไว้ทุกข์เป็นเวลา  30 วัน นับจาก 25 ต.ค.- 23 พ.ย. 56
         ว่ากันว่า มีเรื่องแปลกแต่จริงเกี่ยวกับท่าน คือ สมเด็จพระสังฆราช ท่านเกิด พ.ศ. 2456  วันที่ท่านสิ้นพระชนม์ คือ วันที่  24 พ.ศ. 56
เทียบเป็น ค.ศ. คือ 1913 เวลาที่ท่านสิ้นพระชนม์จริง คือ 19.13 น.
อายุท่าน คือ 100 ปี กับ 21 วัน โดยวันที่ท่านได้รับตำแหน่งพระสังฆราช ตรงกับวันที่  21 เช่นกัน นับเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ยิ่ง

         ในนามของโรงเรียนรัฐราษฎร์พัฒนา  ข้าพเจ้าขอร่วมจิตอธิษฐานถวายพระพร  กราบขอขมาและขอโมทนากุศล ด้วยธรรมอันประเสริฐ เทอญ

กิจกรรมในรอบเดือน
-นักเรียนสอบกลางปี  (3-4  ต.ค.56)
-ผอ.ปราโมทย์ ร่วมงานแซนโฎนตา  ที่ อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์  (3 ต.ค.56)
-รับการประเมิน รร.เศรษฐกิจพอเพียง  (10  ต.ค.56)
-ครูสุมลเทียน  ประไวย์ประเมินครูชำนาญการ ( 10 ต.ค.56)
-ผอ.ปราโมทย์ เข้าอบรม หลักสูตรผู้ช่วยผู้ฝึกลูกเสือ  A.L.T.C.(วู้ดแบดจ์ 3 ท่อน) ณ รร.โสตศึกษาฯ (12-18 ต.ค.56)

เก็บเรื่องราวมาเล่าบอก
            .......เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว.........
            วลีอันไพเราะข้างต้นนี้ เป็นการตีความในแง่ของธรรมชาติ ความหมาย คือ “การทำลายธรรมชาติแม้เพียงเล็กน้อย อาจส่งผลกระทบมากมายตั้งแต่โลกจนถึงดวงดาว” เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันซับซ้อนของทุกสิ่งซึ่งมีผลกระทบต่อกัน
     ฝรั่งตะวันตกก็มีความเชื่อคล้ายกันนี้ ตามทฤษฎีไร้ระเบียบ "cha-os  theory " ซึ่งเราคุ้นเคยกันในชื่อ  “butterfly effect” ที่ว่า  When a butterfly flapping  its wings in Brazil could cause a tornado in Texas.
      ชาวจีนโบราณก็เชื่อลักษณะนี้เช่นกัน โดยมีคำสอนว่า  เนื่องจากตะปูตัวเล็กๆ ตัวหนึ่งหลุดหายไป เกือกม้าจึงหลุดหาย  เมื่อเกือกม้าหลุดหาย  ม้าจึงเสียหลัก  เมื่อม้าเสียหลัก  ขุนพลจึงตกม้า  เมื่อขุนพลตกม้า  การสู้รบจึงพ่ายแพ้  และเมื่อการสู้รบพ่ายแพ้  เราจึงเสียชาติไป                        
     แม้แต่พระพุทธศาสนาก็ยังกล่าวถึง อิทัปปัจจยตา  นั่นคือ สรรพสิ่งทั้งปวงย่อมมีความเกี่ยวเนื่องและอิงอาศัยกัน
           เช่นนี้แล้ว  จึงเป็นการสะท้อนให้เราได้รู้จักคิดอย่างรอบคอบและระมัด- ระวังก่อนที่จะลงมือทำสิ่งใดๆ  ซึ่งต้องคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นในภาพรวมทั้งในปัจจุบันและอนาคตข้างหน้าด้วย
         ในการจัดการศึกษาของเราก็เช่นเดียวกัน กระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนเกิดขึ้นทุกขณะดุจผีเสื้อกระพือปีก  เราจะทำอย่างไรเพื่อให้ทุกขณะนั้นมีคุณค่าและเกิดประโยชน์สูงที่สุด  ภาระหนักอึ้งนี้กดทับลงมาบนบ่าทั้งสองของพี่น้อง
ครูเราทุกคน  แต่กระแสสังคมในโลกไร้พรมแดนก็มีรูรั่วมากมายที่จะทำให้เด็กๆ ของเราหลงทางจนอาจกลายเป็นหลงผิดได้  ขอให้เราได้ถนอมดอกไม้แต่ละดอกที่อยู่ในมือของเรา  ให้ได้เบ่งบานอวดความงามของไม้นานาพรรณเพื่อช่วยจรรโลงสังคมของเราให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป
                ความทรงจำวัยเด็ก เมื่อครั้งเรียนชั้นประถมในโรงเรียนที่ห่างไกลแถบทุ่งกุลา แม้จะผ่านมากว่า 30 ปีแล้ว  แต่ภาพนั้นก็ยังตรึงใจอยู่ไม่คลาย เป็นภาพที่เด็กชายตัวผอมดำคนหนึ่งสวมใส่เสื้อผ้าเย็บมือ กระดุมหลุดหายสองเม็ด กางเกงซิปแตกจากกิจกรรมอันโลดโผนประสาวัยเยาว์  ยืนยอมรับความผิดต่อหน้าครูประจำชั้น แต่ ไม่มีคำด่าทอและดูแคลน ในความเขลากับสภาพอันแร้นแค้นนั้น      มีเพียงรอยยิ้มและเสียงถอนหายใจเบาๆ  จากนั้นครูก็เย็บกระดุมและซ่อมซิปให้นั่นคือ การสอน ที่ลึกยิ่งกว่า คำสั่งสอน เพราะกาลเวลามิอาจลบเลือนได้เลย         “แม่ครู”คนนั้นคือคุณครูสุวิมล  กิมาวหา ซึ่งครูไม่ได้มีปริญญาเอกอุ มาจากที่ใด แต่ภาษากายของท่านได้แสดงพลังแห่งความเป็นครูอย่างแจ่มชัด   เมื่อมองย้อนมาที่ เราๆ ท่านๆ ซึ่งมีปริญญาและใบประกาศนานาที่แทบจะเอามาทำฝาบ้านได้    เคยมีสักครั้งไหม ที่อยากเย็บกระดุม ซ่อมซิปและโอบไหล่ไอ้เด็กหัวดื้อตัวเหม็นขี้มูกโป่งที่แทบจะมองไม่เห็นอนาคตอันใด
        ในอีก 10-20 ปี ข้างหน้า  หากจะมีลูกศิษย์สักคนที่ระลึกถึงเราด้วยความรักก็เป็นอีกอารมณ์ที่น่าสนใจนะครับ
       ท่านจะทิ้งหรือใช้มันก็แล้วแต่เพราะโอกาส.....อยู่ในมือท่านแล้ว

ขอบคุณข้อมูล :  

....เสมา  ฮาเฮ ....

ตอน    สู่อาเซียน
      ขณะที่ครูสาวกำลังก้มหน้าก้มตาตรวจงานเด็กอยู่นั้น
นักเรียน:  ครูคะ ด.ช.แดง เขาพูดฝรั่งใส่หนูค่ะ   
ครูสาว:  ดีมาก  ครูขอชมเชย ด.ช.แดง นะคะ ที่ทันสมัยรู้จักใช้ภาษาอาเซียนสื่อสารกับเพื่อน ?!?
นักเรียน:  แต่เม็ดฝรั่งยังติดเต็มหน้าหนูอยู่เลย นะคะครู
ครูสาว:   ?????!!!?????

(พูด เป็นภาษาอีสาน หมายถึง ถ่มหรือพ่นของออกจากปาก)

วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2556

วารสารฉบับ28

ทักทายกัน....ประสาพี่น้อง
                 ในปีนี้ อ.ศรีณรงค์ ของเรามีผู้เกษียณอายุราชการ 2 ราย   รายแรก ผอ.รร.บ้านหนองแวง  ผอ.กิติศักดิ์  ไพลพิทักษ์สกุล  ที่เราคุ้นเคยในชื่อ “ป๋าหยวย”  ทีมเครือข่ายศรีณรงค์ 2 จึงได้จัดงานมุทิตาจิตให้ท่านที่เมืองลาวอย่างสมศักดิ์ศรี เป็นบรรยากาศที่สนุกสนานช่วยสานสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นแก่ผู้เกษียณและผู้ที่อยู่แถวถัดมา ซึ่งยังต้องรับใช้บ้านเมืองต่อไป   อีกท่านหนึ่งคือ นายทรงเกียรติ  เสียงเจริญ  นายอำเภอศรีณรงค์ ต้องยอมรับว่าการต่อสู้บนเส้นทางแห่งการรับใช้ประชาชนของท่านนั้น   เป็นแรงบันดาลใจสำหรับข้าราชการรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี             

        สำหรับกิจกรรมในโรงเรียนของเรา  ก็ยังคงเป็นไปตามวงรอบในปฏิทินงานของแผนปฏิบัติการที่ได้กำหนดเอาไว้      ขออนุญาตเล่าผ่านรูปภาพนะครับ 
กิจกรรมในรอบเดือน
-ผอ. รับการประเมินชำนาญการพิเศษ  (4 ก.ย. 56)
-งานบุญร่วมมิตร ที่ วัดอ้อมแก้ว  (9 ก.ย. 56)
-นักเรียนชั้น ป.4-6 ร่วมประชุม (อสร.) อาสาสมัครสาธารณสุข  ณ รพ.ส.ต.ณรงค์  (18 ก.ย. 56)
-นักเรียน ป.1-6  อบรมคุณธรรมจริยธรรม ณ วัดห้วยเสน  (20 ก.ย. 56)
เก็บเรื่องราวมาเล่าบอก
              ดาว..... จิตวิทยาการให้แรงจูงใจ  สู่การใช้ชีวิตจริง
        หลายวันก่อน ลูกสาวของผมที่เรียนชั้นอนุบาลได้อวดภาพวาดของตนและบอกด้วยความภูมิใจว่า  “คุณครูให้ 5 ดาว เลยนะพ่อ”    เป็นธรรมดาของผู้เป็นพ่อ ย่อมจะเอ็นดูและมองด้วยความชื่นชมในความไม่เดียงสาของลูก ทำให้อดที่จะอมยิ้มไม่ได้        
        Abraham  Maslow  นักจิตวิทยาอเมริกัน บอกว่า มนุษย์มีลำดับความต้องการ 5 ขั้น คือ
1.ทางด้านร่างกาย          
2.ความปลอดภัยและมั่นคง                                        
3.ความรักความผูกพัน
4.การยกย่องและยอมรับ
5.ความสำเร็จในชีวิต 
      ดาว  จึงมีความหมายมากกว่าดาวเพราะได้กลายเป็นสัญลักษณ์แทนการยกย่องและยอมรับจากคนอื่นตามทฤษฎีข้างต้น  ในขณะ เดียวกันก็ทำหน้าที่เสริมแรงเพื่อจูงใจให้ทำพฤติกรรมนั้นซ้ำๆ อีก
      การจูงใจโดยใช้ตัวเสริมแรงยังลามมาถึงเราๆ ท่านๆ  เช่นกัน    ดูได้จากการขายสินค้าตามห้างร้านต่างๆ มักจะมีของแจก ของแถม มีลดราคา มีสะสมแต้มและอีกหลายกลเม็ดคอยยั่วใจให้ซื้อ
      เหลือบมองมาที่รอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็น บ้าน รถ เฟอร์นิเจอร์ รวมทั้งเครื่องบำรุงกายบำเรอใจในวัฏชีวิต  ที่เราพยายามแสวงหาและสะสมไว้นั้นก็ล้วนแล้วแต่สนองตอบความต้องการดังที่ฝรั่งเขาว่าไว้  ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีนัยแห่งหน้าที่และความหมายไม่ได้ต่างอะไรจาก ดาว ของเด็กๆ เลย
      จะเห็นได้ว่า ดาวของลูกสาวกับดาวของพ่อ  มีเส้นทางที่เชื่อมโยงถึงกัน แต่ด้วยความทะนงในเดียงสาของตนเอง  พ่อก็พยายามยกเหตุหาผลมาอ้าง เพื่อไม่ให้ถูกตราหน้าว่าเป็นคน “เสพติดสิ่งจูงใจ” แบบเด็กๆ
       เมื่อความเชื่อของพลโลกส่วนใหญ่ถูกวางกรอบไว้ว่า คนเก่งที่ประสบผลสำเร็จมีแบบพิมพ์เดียวกัน จึงเกิดแนวคิดในการสร้างคนเก่งที่จะประสบผลสำเร็จขึ้น ซึ่งเรารู้จักและคุ้นเคยกันดีในชื่อ “โรงเรียน” นั่นเอง และ ดาว ก็เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ถูกใช้ในการชี้วัดผลสำเร็จตามแนวคิดดังกล่าว  เริ่มจาก ดาว กลายเป็นคะแนน จากคะแนนเปลี่ยนเป็นลำดับที่ จากลำดับที่เกิดเป็นโอกาส  เมื่อมีโอกาสจึงได้เข้าสู่อาชีพ  เมื่อมีอาชีพก็จะส่งผลให้เกิดสถานะทางสังคมและสถานะทางสังคมจะกลายเป็น อำนาจ  ซึ่งนั่นก็คือ  คนเก่ง  ตามแบบพิมพ์นิยม ที่ถูกสร้างขึ้นโดยระบบ  “โรงเรียน”
         ย้อนไปที่บรรทัดข้างต้น หากเราแหกคอกและทุบกรอบแนวคิดที่ใครก็ไม่รู้ยัดเยียดให้เราเชื่ออย่างนั้น  อาจทำให้ปริมาณของผู้ “เสพติดสิ่งจูงใจ” ลดลงบ้างก็ได้ หรือจะต้องลด ละ เลิก กันตั้งแต่เด็กๆ ข้อนี้ก็น่าคิด
          กลไกทางสังคมอันซับซ้อนได้ลวงใจของเรา ให้หลั่งสารแห่งสุข (endorphin) โดยเอาวัตถุเป็นเงื่อนไข ดังที่  Evan  Pavlov  นักจิตวิทยาชาวรัสเซีย ได้เคยทดลองเปลี่ยนเสียงกระดิ่งให้มีค่าแทนก้อนเนื้อ แล้วนั้น
แต่ธรรมะแห่งพระพุทธองค์กลับชี้ชัดว่าสุขอยู่ที่ใจใช่วัตถุ  เช่นนั้นแล้ว
          สารแห่งสุขจะหลั่งมากหรือน้อยก็อย่าให้เป็นเพราะกระดิ่งเงินเดือน  ในเทศกาลเลื่อนขั้นขึ้นเงินเดือนก็แล้วกัน    ด้วยว่าการได้ขั้นธรรมดาหรือขั้นพิเศษ  อาจจะเป็นเพียง ดาว อีกดวงที่ได้เพิ่มขึ้น  ก็เท่านั้นเอง ……
 ขอบคุณข้อมูล          http://www.google.com/    http://th.wikipedia.org/  

ฮาเฮ  เสมา
ตอน    ช่างกล้า
    สามีภรรยาครูคู่หนึ่งเดินเข้าไปในคลินิกหมอฟัน
ครูหญิง:  หมอคะ หมอช่วยถอนฟันให้หน่อย   แต่เรามีเวลาไม่มาก หมอไม่ต้องฉีดยาชาก็ได้ค่ะ
หมอฟัน:  ได้  คุณเป็นคนยอดมาก  ที่กล้าถอนฟันโดยไม่ต้องใส่ยาชา จะถอนซี่ไหนครับ
     ครูหญิงหันไปหาสามี แล้วพูดว่า  
             นี่คุณ  อ้าปากให้หมอดูฟันที่จะถอนซิ
หมอฟัน:   ?????!!!?????

วันศุกร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2556

สารสารฉบับที่27

ทักทายกัน....ประสาพี่น้อง
        งานวันแม่และทำบุญโรงเรียนในปีนี้ จัดขึ้นเร็วกว่าทุกปี  แต่ว่าร่วมงานมีบรรยากาศยังคงขลังอยู่เช่นเดิม  ถึงแม้ว่าแม่เกือบครึ่งไม่ใช่แม่ แต่เป็นยายเป็นย่า ก็ตามที่  ภาพที่ลูกๆ คลานไปกราบแม่คลอกับเสียงเพลง ค่าน้ำนม นั้นเป็นภาพอมตะ ที่แสดงอัตลักษณ์ของสังคมไทยได้อย่างชัดเจน  สำหรับการแข่งวิชาการระดับเขตในปีนี้ เราส่ง 3 รายการ  ได้มา 3 เหรียญเงิน ใกล้เคียงสุดคือ โปรแกรมGSP ได้ลำดับ 4  ช่วงปลายเดือน เด็กๆ  ร่วมแข่งขันกีฬา สพฐ. อย่างสนุกสนาน  ซึ่งในการร่วมกิจกรรมทั้งกีฬาและวิชาการย่อมมีสมหวังและผิดหวัง ระคนกันไป แต่สิ่งเหล่านี้เองที่เป็นเครื่องมือเรียนรู้อย่างดีเยี่ยมของเด็กๆ  ต้องขอขอบคุณคณะครูและนักเรียนที่ตั้งใจฝึกซ้อมและร่วมแข่งขันอย่างสมศักดิ์ศรี  

                                                       .......ปราโมทย์  พลศักดิ์เดช
กิจกรรม
-กิจกรรมวันแม่  (8 ส.ค. 56)   
รับขวัญน้อง ออกัส ลูกชายครูก่อเกียรติ (15 ส.ค. 56)
-วิทยากรภูมิปัญญา สอนทำไม้กวาด (27 ส.ค. 56)
-เด็กๆ ร่วมแข่งวิชาการที่เขต (11,17 ส.ค. 56)
-  กิจกรรม  เฉลิมพระเกียรติพระแม่ของแผ่นดิน นวศิลป์สู่อาเซียน” (10 ส.ค.56)

          .......ความลับเบื้องหลังบทเพลง.......
              ในงานเลี้ยงเล็กๆ งานหนึ่ง ท่าน ผอ.สงวน  ศาลางาม ได้ร้องเพลงที่มีเนื้อหาจับใจมากเพลงหนึ่ง   ผมจึงพยายามหาข้อมูล และพบว่า เป็นเพลง เสียงแคนจากแมนชั่น  ขับร้องโดย ไหมไทย และแต่งโดย วีระ สุดสังข์  คนศรีสะเกษ  กั้นเอ้ง...     พอค้นต่อไปจึงได้รู้ว่า ครูวีระ เคยใช้นามปากกา  ฟอน  ฝ้าฟาง     เป็นสมาชิก กลุ่มวรรณกรรมลำน้ำมูล ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของหนุ่มสาวนักคิดนักเขียนแถบอีสานใต้ ในช่วงปี 2525-2529 ที่เรารู้จักก็มี สลา  คุณวุฒิ ,วสันต์ สิทธิเขต, ไพวรินทร์ ขาวงาม ,พงษ์สิทธิ์  คัมภีร์  เป็นต้น ซึ่งรายแรกและรายหลังนั้น คิดว่าคนส่วนใหญ่คงคุ้นชื่อกันดี จากผลงานการร้องและการแต่งเพลงที่โด่งดัง กระทั่งทุกวันนี้
        คนกลุ่มนี้อยู่ในยุคการแสวงหารุ่นที่สองต่อจาก ยุคตุลา16 ที่หลบหนีเข้าป่า  ชื่อของน้าหงา สุรชัย จันทิมาธร  และสมาชิกวงคาราวาน ก็ยังคงมีเสน่ห์อยู่เสมอในบรรยากาศที่เรียกว่า เพื่อชีวิตและยังรวมถึงนักคิดนักเขียนแถวหน้าของเมืองไทยอีกไม่น้อย 
หากพูดถึงต้นธารของนักคิดนักเขียนรุ่นครูจริงๆ นั้น ในแถบอีสานบ้านเราก็ต้องนึกถึง เปลื้อง วรรณศรี  ผู้ร่วมขบวนการและถูกจับ ข้อหา กบฏสันติภาพ 10 พฤศจิกายน  นเรศ นโรปกรณ์ เจ้าของสำนวน สาวเอยจะบอกให้ รวมทั้ง ฉัตร บุญยศิริชัย เจ้าของนามปากกา ศักดิ์ สุริยาและ จารึก ชมภูพล เจ้าของเรื่องสั้น ปลาซิวตัวสุดท้ายในทุ่งกุลา    ถัดมาจึงเป็นยุคของสหายนักแสวงหา ซึ่งได้กลายเป็นตำนานที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย   
           นักคิดนักเขียนเหล่านี้ เปรียบไปก็เหมือนหมุดที่ปัก ณ จุดต่างๆ ในแผนที่ของบ้านเมืองเรา มีเส้นสายที่เชื่อมโยงถึงกันและมีส่วนในการกำหนดทิศทางของสังคม ซึ่งจะว่าไปก็คือคนเขียนประวัติศาสตร์นั่นเอง  แต่โลกาภิวัตน์ได้เปิดประตูรับกระแสบริโภคนิยมที่เน้นสวย หล่อและฟุ้งเฟ้อ  ซึ่งอาจจะทำให้สังคมเราล่มสลายโดยไม่รู้ตัว  นับเป็นสิ่งที่น่าห่วงใยยิ่งนัก  คนรุ่นหลังๆ อย่างพวกเราจะมีสักกี่คนที่พยายามค้นหารากเหง้าของตนเอง เพื่อทำความเข้าใจและเพื่อเป็นฐานในการคิดสำหรับกำหนดอนาคตที่เหมาะควรทั้งต่อตนเองและสังคม
       ย้อนไปราวๆ 20 ปีก่อน สมัยผมยังเป็นนักศึกษาหน้าละอ่อนแห่งมอดินแดง  ได้มีโอกาสฟัง น้าหงา คาราวาน ร่ายบทกวีคลอเสียงกีตาร์ของ พี่ปู  คัมภีร์   ณ ลานสโมสรนักศึกษา  เมล็ดพันธุ์แห่งการแสวงหาก็เติบโตขึ้นในใจผมนับแต่นั้น เพลงเพื่อชีวิต เสียงกีตาร์และบทกวีการต่อสู้ คือสิ่งประโลมใจอันสำคัญยิ่งในรั้วมหาวิทยาลัยแดนอีสาน  ต่อเมื่อมาเป็นครูแล้วก็ยังคงชื่นชมและติดตามผลงานของนักคิดนักเขียนและนักแสวงหาเหล่านั้น
        บทเพลงบางเพลงสำหรับบางคน ก็อาจเป็นเพียงเพลงดาดๆ ทั่วไปเท่านั้น แต่สำหรับบางคนอาจมีความหมายมากกว่านั้น   เพราะบทเพลงได้ขูดคราบแห่งความเชื่อและกะเทาะสนิมของค่านิยมที่บิดเบือน  ทำให้เราได้เห็นตนเองชัดขึ้น   การได้ฟังเพลงที่ไพเราะ ซึ่งกลั่นมาจากความคิด ความเชื่อที่มีคุณค่าดังที่ได้กล่าวข้างต้นนั้น ก็เพียงพอและสุขใจแล้ว.............
 ขอบคุณข้อมูล    http://www.oknation.net   ครูเยี่ยม  ทองน้อย
                             เจนอักษราพิจารณ์และ ผอ.สงวน  ศาลางาม

                      ....ฮาเฮ   เสมา ....

ตอน    นรก กับ สวรรค์
ครู:  ระหว่าง สวรรค์ กับ นรก  ท่านอยากไปที่ไหน ?
นักการเมือง:  ไป นรก     
ครู:  ทำไมละ   ?!?
นักการเมือง:  ที่ นรก  มีคนลำบากอยู่มาก และการเป็นอยู่ก็
           ยังไม่ได้รับการพัฒนา  จึงจำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือ
            และปรับเปลี่ยนโครงสร้างในหลายๆ ด้าน
ครู:      ?????!!!?????

วันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2556

วารสารฉบับ26

ทักทายกัน....ประสาพี่น้อง
          ปลายเดือนที่ผ่านมา กิจกรรมทางวิชาการของเครือข่ายศรีณรงค์ 2 จัดขึ้นที่ รร.บ้านละมงค์  ทั้งครู  ทั้งเด็กและผู้ปกครอง ต่างทำหน้าที่อย่างแข็งขัน ถือเป็นการสร้างความร่วมมือทางวิชาการ อย่างดียิ่ง ครู 7  คน ส่งเด็ก  55  คน ใน  25 รายการ ได้มา  10 ทอง 11 เงิน 1 ทองแดง และเป็นตัวแทนไปแข่งที่ สพป.สร.3  จำนวน  รายการ ครับ
       ย้อนไปต้นเดือน สพป.สร.3 และ ม.ราชภัฏสุรินทร์ ได้ร่วมมือกันจัด โครงการแลกเป้าฯ ณ รร.เพชรเกษม จ.สุรินทร์  โดยอบรมให้แก่ ทีมนำ ทีมทำและทีมตาม  ผู้บริหารให้เป็นทีมทำ  ซึ่งมีกิจกรรมให้ผู้บริหารได้สะท้อนสภาพปัญหาในการบริหาร และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเพื่อสร้าง Best Practice  ทั้งในระดับโรงเรียนและระดับเครือข่าย  ถือเป็นการประชุมที่น่าสนใจทีเดียว   คงเหมือนที่ ผอ.ทิศ ซ่อนจันทร์  ว่าไว้ การจัดการเรียนรู้ก็เหมือนการกินอาหารนะแหละ  แค่อาหารเดิมๆ แต่เปลี่ยนที่ หรือเปลี่ยนคนร่วมกินด้วย  ความอร่อยก็แตกต่างกัน   นับเป็นข้อที่น่าคิดมิใช่น้อยเลยละครับ........

                                                                             ปราโมทย์  พลศักดิ์เดช
-ลูกเสือทบทวนคำปฏิญาณและเดินสวนสนาม  (ก.ค.56)
-คณะครูและกรรมการสถานศึกษาร่วมต้อนรับครูบรรจุใหม่ นายก่อเกียรติ ศรีระเริญ  (ก.ค.56)
-ร่วมงานบวชลูกชาย ครูสุบิน  บุญล้อม  (ก.ค.56)
-ทำบุญเข้าพรรษา ที่วัดห้วยเสน  (19 ก.ค.56)
-ร่วมขบวนแห่เทียนกับหมู่บ้านของเราที่จัดโดย อบต.ณรงค์  (23 ก.ค. 56)
-แข่งวิชาการเครือข่าย 23 ที่ รร.บ้านละมงค์ ได้ไปเขต  3  รายการ
      -โปรแกรม  GSP    - A   Math   -จักสานไม้ไผ่    ( 25-26 ก.ค.56)

เก็บเรื่องราวมาเล่าบอก
....ANGELS AND DEMONS (ฉบับอีสาน).....
        ได้ฟังเรื่องราวอันพิลึกพิลั่นของหลวงพี่เวร เอ๊ย! เณรคำ แล้วก็พาลให้นึกถึงนวนิยาย ของ  Dan  Brown เรื่อง Angels and Demons  เป็นเรื่องราวอื้อฉาวของพระในสำนักวาติกันซึ่งคริสต์ศาสนิกชน คงไม่ปลื้มเท่าไรนัก  แต่ก็ต้องทำใจ
        พอปรากฏการณ์ของหลวงพี่เณร เสนอผ่านสื่อออกมา  ฝั่งชาวพุทธเราหลายๆ คนก็ขำไม่ออกเหมือนกัน   เพราะมันบาดหัวใจเหลือเกิน แต่ถ้าหากมองย้อนตามเส้นทางสายความเชื่อของชาวเราก็จะพบว่า เหตุการณ์เหล่านี้ได้เกิดอยู่ซ้ำๆ ต่างก็แต่ตัวแสดงและรายละเอียดเล็กน้อยเท่านั้น  คำถามสำคัญคือ ประชาชนไม่เข็ดหลาบกันหรืออย่างไรกับกลลวงมุขเดิมๆ แบบนี้ แต่คำถามที่สำคัญกว่าคำถามแรกก็คือ การจัดการศึกษาของบ้านเมืองเราไม่ได้ก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ถูกต้องหรืออย่างไร  เพราะตัวแสดงเหล่านี้ต่างก็เป็นผลผลิตจากการศึกษาทั้งสิ้น  
           ปฏิรูปการศึกษารอบล่าสุด มุ่งให้คนไทยเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ โดยมีความรู้คู่คุณธรรม และอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเป็นสุข   ถ้าจะว่ากันตามสาระและความงามของภาษาแล้วนั้น ถือว่าชวนฝันอย่างยิ่ง  แต่เราต้องยอม รับว่าสิ่งที่หล่อหลอมคนให้เป็นคนสักคนหนึ่ง มีปัจจัยมากมาย ทั้งที่ควบคุมได้และเกินกำลังควบคุม  เราในฐานะของนักการศึกษา จึงทำในส่วนที่ทำได้เท่านั้น   ซึ่งการทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเชื่อ ความศรัทธานั้น เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนยิ่ง
       ย้อนไปราว 2,600 ปีก่อน พระพุทธเจ้า ได้ตรัสแก่ชาวกาลามะ เกี่ยวกับหลักแห่งความเชื่อ 10 ประการ ไม่ให้เชื่องมงายไร้เหตุผล  ใน เกสปุตติสูตร  ดังนี้                                                                  
1. อย่าเพิ่งเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา (มา อนุสฺสเวน)                                            
2. อย่าเพิ่งเชื่อ ด้วยการถือสืบๆ กันมา (มา ปรมฺปราย)                                                            
3. อย่าเพิ่งเชื่อ ด้วยการเล่าลือ (มา อิติกิราย)                                                                                                      
4. อย่าเพิ่งเชื่อ ด้วยการอ้างตำรา หรือคัมภีร์ (มา ปิฏกสมฺ ปทาเนน)                     
5. อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะตรรกะ (มา ตกฺกเหตุ)                                                             
6. อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะอนุมาน (มา นยเหตุ)                                                                        
7. อย่าเพิ่งเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล (มา อาการปริวิตกฺเกน)                    
8. อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว (มา ทิฏฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา)              
9. อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้ (มา ภพฺพรูปตาย)              
10.อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา (มา สมโณ โน ครูติ)       
ต่อเมื่อได้รู้เข้าใจด้วยตนว่า ธรรมเหล่านั้น เป็นอกุศล เป็นกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้นแล้ว จึงควรละหรือถือปฏิบัติตามนั้น 
       ณ  กาลนั้น พระพุทธองค์ ยอมสละบรรดาศักดิ์ ทิ้งราชสมบัติและจตุรวิมานอันเป็นโซ่ตรวนแห่งชีวิต มาสู่ มัชฌิมาปฏิปทา อันสง่างาม    แต่ในกาลนี้  สงฆ์ผู้สืบศาสนา กลับใฝ่หาบรรดาศักดิ์ สะสมทรัพย์สิน สร้างวัด ดุจวิมาน  ฉะนี้แล้ว          อีกไม่นานเกินรอ  หลวงพี่เณร’ 2…3…4…  คงจะเกิดขึ้นมาอีกอย่างแน่นอน .........ไม่เชื่อ  อย่าลบหลู่   ก็แล้วกัน  ?????   
ขอบคุณข้อมูล http://www.easyinsurance4u.com   http://www.google.co.th

  ...แนะนำบุคลากร
ชื่อ   นายก่อเกียรติ   สกุล  ศรีระเริญ
ชื่อเล่น   อัศน์
เกิด   13 พ.ค. 2526
วุฒิ   กศ.บ.ประถมศึกษา
ภูมิลำเนา   จ.ศรีสะเกษ
สถานะ
     ครูผู้ช่วย ร.ร.รัฐราษฎร์พัฒนา ผู้มีความหลงใหลในการเดินทางและไอซีที ผ่านงานประชาสัมพันธ์ และงานกิจการนักศึกษาของ ม.มส. และยังเป็นนักการตลาดในแวดวงธุรกิจระดับอาเซียน มาก่อน
Take  it  easy ”


วันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

วารสารฉบับ25

                                               ทักทายกัน....ประสาพี่น้อง
    ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา กระผมได้ร่วมแสดงความยินดีกับท่าน ผอ. อนุโรจน์ รุจิยาปนนท์ ย้ายไปที่ รร.บ้านละมงค์ และ ผอ.ปรีชา  กาบทอง ย้ายจาก รร.บ้านตะโนน ไป รร.วันเจริญสามัคคี  ทั้งสองท่านถือเป็นพี่ชายที่เคารพ  เป็นผู้ที่มีความสามารถด้านการบริหารอย่างดี  เชื่อมั่นว่าจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาการศึกษาของบ้านเราให้รุดหน้าอย่างแน่นอน ขอเป็นกำลังใจและยินดีด้วยนะครับ
         แต่สำหรับ รร.ของเรา ค่อนข้างจะหงอยๆ  เนื่องจากคุณครูไข่เจียว  วาทศิลป์  บุญสูง ย้ายกลับบ้านที่ อ.ปราสาท จากเดิมมีครู 7 คน ครบชั้น ตอนนี้ก็เลยมีไม่ครบ  ทำให้พี่น้องเราโกลาหลกันพอสมควร เพราะว่ากิจกรรมต่างๆ ยังคงต้องดำเนินไปตามแผนที่วางไว้  แม้ว่าต้องเหนื่อยกันมากขึ้น แต่ก็ยังคงยิ้มได้ เพราะพวกเราเชื่อว่า  ที่นี่คือบ้านของเรา
          แว่วมาว่า ต้นเดือนหน้าจะได้ครูมาแทน  ถือเป็นข่าวดีอย่างที่สุด  เพราะปัญหาครูไม่ครบชั้นเป็นเรื่องหนักใจอย่างยิ่ง ต้องขอขอบคุณ สพป.สร.3 อย่างสูง  ที่ไม่ทิ้งขว้าง รร.เล็กๆ อย่างเรา   ขอบคุณครับ....


                                                                 ปราโมทย์  พลศักดิ์เดช
กิจกรรม
-กิจกรรมไหว้ครู  ปี 56  (13 มิ.ย.56)
-ไปส่งครูวาทศิลป์  บุญสูง ที่ รร.ปราสาท  (14 มิ.ย.56)
-ร่วมงานบุญบั้งไฟบ้านรัฐราษฎร์ฯ  (23 มิ.ย.56)
-กิจกรรมวันสุนทรภู่และวันต่อต้านยาเสพติด (26 มิ.ย.56)

เก็บเรื่องราวมาเล่าบอก
                      .......ศธ 1   จาตุรนต์  ฉายแสง.......      
                 30 มิ.ย. 56 ที่ผ่านมา  กระทรวงศึกษาธิการของเราได้ รมต.คนใหม่  แต่หน้าตาอาจจะคุ้นเคยกันบ้างแล้ว   วารสารฉบับนี้จึงขอจูงมือทุกท่านไปรู้จักกับ ท่าน ศธ1  คนใหม่             ในบางแง่มุม นะครับ...........
                      ภูมิหลังและการศึกษา
      นายจาตุรนต์  ฉายแสง  เกิดเมื่อ 1  ม.ค. 2499  อ.เมือง  จ.ฉะเชิงเทรา เป็นบุตรคนโตของนายอนันต์ ฉายแสง อดีต ส.ส.ฉะเชิงเทรา และ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมัยรัฐบาลของ  ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี 
ท่านเรียนหนังสือชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ ในจังหวัดบ้านเกิด จบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย หลังจากนั้น ได้สอบเข้าเรียนต่อที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมทั้งทำกิจกรรมนักศึกษาไปด้วยจนได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และขณะที่ยังเรียนชั้นปีที่ 4 ได้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 มีการกวาดล้างผู้นำนักศึกษา ทำให้เขาต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในป่าระยะหนึ่ง โดยใช้ชื่อจัดตั้งว่า "สหายสุภาพ" ภายหลังสถานการณ์คลี่คลายจึงกลับเข้าเมืองและตัดสินใจไปศึกษาต่อจนสำเร็จปริญญาตรี และปริญญาโท ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์ก ที่บัฟฟโล สหรัฐอเมริกา และได้รับทุน Teaching ของมหาวิทยาลัยอเมริกัน เรียนต่อระดับปริญญาเอก แต่ต้องกลับประเทศไทยเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร      ในปี พ.ศ. 2529 และได้รับการเลือกตั้งในครั้งนั้น

                   ครอบครัว

     นายจาตุรนต์  ฉายแสง สมรสกับ นางจิราภรณ์  ฉายแสง อดีตเลขานุการหน้าห้อง ของนายพิศาล มูลศาสตร์สาทร ขณะดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยพิธีหมั้นของเขา มี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพฝ่ายชาย และมี นายแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวัง เป็นเจ้าภาพฝ่ายหญิง โดยมี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นประธานในพิธี

                       ตำแหน่งบริหารที่สำคัญ                                                                                              

พ.ศ. 2539 - 40  เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง                               

พ.ศ. 2544 เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี           

พ.ศ. 2545 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม   และตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี                                                                          

พ.ศ. 2548   เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ                                                                                       

พ.ศ. 2556   เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 

                          เกียรติรางวัลที่เคยได้รับ                                                    
 -รางวัล "นักการเมืองมาตรฐานแห่งปี 2542” จากสมัชชา สสร.แห่งประเทศไทย                                                                       
-พ.ศ. 2542 นิตยสารเอเชียวีค (Asia Week) จัดให้เป็น 1 ใน 20 ผู้นำชาติในเอเชีย ที่มีบทบาทในศตวรรษที่ 20                           
-นิตยสารต่างประเทศยกย่องให้เป็น 1 ใน 4 ผู้นำรุ่นใหม่ของประเทศไทยในปีเดียวกัน                                                          
-พ.ศ. 2543 รัฐบาลออสเตรเลีย เชิญเป็นแขกของรัฐบาลในฐานะนักการเมืองรุ่นใหม่ที่ทำประโยชน์ในสังคม                       
-พ.ศ. 2545  รับรางวัล ลี กวน ยิวจากประเทศสิงคโปร์  ซึ่งนับเป็นคนไทยคนที่ 2 ที่ได้รับรางวัลนี้ (คนแรกคือ พันตำรวจโททักษิณ  ชินวัตร ในปี 2538)                                                          
-รางวัล "บุคคลผู้มีอิทธิพลต่อสังคมไทย" (Thailand key's maker) ปี พ.ศ. 2546 จากการโหวตของประชาชนผ่านคลื่น 101 News Channel  ด้วยผลงานการจัดระเบียบโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ เมื่อปี 2547
      
      เมื่อดูเส้นทางชีวิตของ ศธ1 คนนี้แล้ว ต้องยอมรับว่าท่านเป็นคนที่เก่งทั้งบู๊และบุ๋น ซึ่งนับเป็นกำไรสำหรับพี่น้องครูเรา และเชื่อว่าท่านจะเป็นผู้นำในการพัฒนาการศึกษาของบ้านเมืองเราเป็นอย่างดี

ขอบคุณข้อมูล :  http://th.wikipedia.org