วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2555

วารสารฉบับที่ 9

ทักทายกัน....ประสาพี่น้อง
       กลางเดือนที่แล้ว ท่าน ผอ.เขต กฤษฎากร  ชุติกุลกีรติ  มาเยี่ยม ร.ร.ใน อ.ศรีณรงค์ และได้ฝากข้อคิดไว้เป็นแนวทางปฏิบัติงานราชการ ว่า ครูต้องมี 3 เต็ม คือ เต็มใจ  เต็มความสามารถ  เต็มเวลา” เป็นข้อคิดที่มีค่ายิ่ง
      สำหรับ ร.ร. ของเรา เดือนที่ผ่านมานั้น นักเรียน ป.4-6 ได้ไปทัศนศึกษาที่ จ.อุบลราชธานี ต่อจากนั้นคณะครูของเราก็ได้ไปศึกษาดูงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนภาคอีสาน ที่ จ.มหาสารคาม ซึ่งทำให้เกิดการเรียนรู้นอกห้องเรียน เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาการศึกษา ครับ    
     โบราณว่าไว้ หลังเมฆหมอกและพายุ  ท้องฟ้าจะสดใส  ก็ขอให้จริงดังว่า เพราะปลายปีที่แล้วประเทศไทยเราเจอวิกฤติหนัก  ดังนั้นปีใหม่นี้ ฟ้าจะสดใส หัวใจก็เบิกบาน
                              ........สุขสันต์วันปีใหม่ครับ......

                                                ปราโมทย์  พลศักดิ์เดช
เก็บเรื่องราวมาเล่าบอก
.....อวยพรกันวันปีใหม่ (ปีมะโรง 2555) ........
        ในอดีต วันขึ้นปีใหม่มี
การเปลี่ยนแปลงมาแล้ว 4 ครั้ง โดยครั้งแรกถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ซึ่ง ตรงกับเดือนมกราคม ครั้งที่ 2 กำหนดให้วันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตามคติพราหมณ์ ซึ่งตรงกับเดือนเมษายน  การกำหนดวันขึ้นปีใหม่ใน 2 ครั้งนี้ ถือเอาทางจันทรคติเป็นหลัก ต่อมาได้ถือเอาทางสุริยคติแทน โดยกำหนดให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตั้งแต่          พ.ศ. 2432 เป็นต้นมา
 
        อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะตามชนบทยังคงยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็น วันขึ้นปีใหม่อยู่ ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทางราชการเห็นว่าวันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน ไม่มีการรื่นเริงอะไรมากนัก สมควรที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จึงได้ประกาศให้มีงานรื่นเริงวันขึ้นปี ใหม่ ในวันที่ 1 เมษายน 2477 ขึ้นใน กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก

       การจัดงานวันขึ้นปีใหม่ 1 เมษายน ได้แพร่หลายออกไปต่างจังหวัดในปีต่อๆ มา และในปี พ.ศ.2479 ก็ได้มีการ จัดงานรื่นเริงปีใหม่ทั่วทุกจังหวัด ในสมัยนั้นทางราชการเรียกว่า วันตรุษสงกรานต์
        ต่อมาได้มีการพิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการ มีหลวงวิจิตรวาทการ เป็นประธานกรรมการ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม โดยกำหนดให้วันที่ 1 มกราคม 2484 เป็น วันขึ้นปีใหม่ และยึดเป็นแนวปฏิบัตินับแต่นั้นมา
กิจกรรมใน วันขึ้นปีใหม่
      วันที่ 1 มกราคม ของทุกปี จะมีการทำบุญตักบาตรและอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ฟังเทศน์ ปล่อยปลา ปล่อยนก ส่งการ์ดบัตรอวยพร ให้ของขวัญซึ่งกันและกัน  ไหว้ผู้ใหญ่เพื่อรับพร และสรงน้ำพระพุทธรูป ประดับธงชาติ   ทำความสะอาดบ้านเรือน และพักผ่อนหย่อนใจกับครอบครัว

       ปีใหม่ พ.ศ. 2555 นี้ กระผมขออนุญาตอัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 13  ของในหลวง  แทนคำอวยพรให้พี่น้องเรา นะครับ

         "พรปีใหม่"  ( ธันวาคม พ.ศ. 2494 )
ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ
    
สวัสดีวันปีใหม่พา ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์                      ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม ต่างสุขสมนิยมยินดี
ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า ให้บรรดาปวงท่านสุขศรี  โปรดประทานพรโดยปรานี ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย
ให้บรรดาปวงท่านสุขสันต์ ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมฤทัย
ให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่  ผองชาวไทยจงสวัสดี
ตลอดปีจงมีสุขใจ  ตลอดไปนับแต่บัดนี้
ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์ สวัสดีวันปีใหม่เทอญ….

ขอบคุณข้อมูล    http://www.Banmaha.com

วันอาทิตย์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555

วารสารฉบับที่ 8

ทักทายกัน....ประสาพี่น้อง
 ......สถานการณ์น้ำท่วมที่สื่อเรียกมหาอุทกภัย นั้น สร้างความทุกข์ใจแก่พี่น้องทั้งประเทศ ขอภาวนาให้เราผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้นะครับ
      ช่วง 8-9 พ.ย. ที่ผ่านมา อ.ศรีณรงค์ เป็นเจ้าภาพจัดการประกวดแข่งขันความเป็นเลิศทางวิชาการของ สพป.สร.3      
      สำหรับโรงเรียนของเราเป็นสนามประกวดแข่งขันสาระสุขศึกษาพลศึกษา  เป็นความภูมิใจและประทับใจอย่างยิ่ง  ผลการแข่งขันเป็นที่ทราบกันแล้ว มีควันหลงมากมายทั้งดีใจและผิดหวัง  ซึ่งก็ไม่ได้ต่างจากปีก่อนๆ      เมื่อดูเนื้อแท้ของการจัดงาน คือให้นักเรียนได้แสดงความสามารถและมีส่วนร่วม แพ้ชนะเป็นเรื่องปกติครับ   
     เด็กๆ ควรจะได้เรียนรู้การชนะเและแพ้อย่างเข้าใจ  ซึ่งจะช่วยทำให้เขากลายเป็นคนที่สมบูรณ์ในอนาคตครับ

                                                ปราโมทย์  พลศักดิ์เดช
..........งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน  ..........
     ความเป็นมา
     งานศิลปหัตถกรรมได้เริ่มจัดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2455 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 โดย มีจุดมุ่งหมาย เพื่อจะแนะนำชักจูงให้เด็กชายหญิงในสมัยนั้น ได้เอาใจใส่ฝึกหัดศิลปหัตถกรรม ซึ่งเป็นทางเลี้ยงชีพ   และกันการที่เด็กทั้งหลายพากันนิยมในการเป็นเสมียนหรือ เข้าทำราชการให้น้อยลง 
      การจัดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนมีการจัดต่อเนื่องกันตลอดมา มีหยุดเว้นบ้าง เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ เปลี่ยนชื่องานไปก็หลายครั้ง โดยจัดที่กรุงเทพฯ เป็นหลัก จนกระทั่ง พ.ศ. 2534 (ครั้งที่ 44) เป็นปีเฉลิมฉลอง 100 ปี กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ คือ เริ่มจัดงานกระจายไปทุกภาคทั่วประเทศ เพื่อเป็นการกระจายโอกาสให้เยาวชนในส่วนภูมิภาค ได้มีโอกาสเข้าชมงานอย่างกว้างขวาง โดยใช้ชื่องานว่า "งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ฉลอง 100 ปี กระทรวงศึกษาธิการ" โดยให้ทุกกรมในกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วมกันจัดงาน มีการจัดงานเป็น 5  ภูมิภาค  ได้แก่ ภาคเหนือ  ภาคกลาง  ภาคตะวันออก  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้   

กระทั่งปี พ.ศ. 2535  ได้แบ่งการจัดงานเป็น  4  ภูมิภาค เป็นการคัดตัวแทนเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันในระดับชาติ ที่ กทม. โดยใช้ชื่อว่า       " งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน...."      จนถึงจนถึงปัจจุบัน
      งานศิลปหัตถกรรมนักเรียนภาคอีสาน           
งานศิลปหัตถกรรมนักเรียนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2554 เป็นครั้งที่ 61    จัดที่ จ.มหาสารคาม วันที่  27-29 ธันวาคม 2554   โดยมีกรอบการจัดงานแบ่งเป็น  6  กิจกรรม  ประกอบด้วย                                                                   
 1.  กิจกรรมการประกวดและแข่งขันทักษะทางวิชาการ 
 2.  กิจกรรมนิทรรศการผลงานทางการศึกษาของโรงเรียน3.  กิจกรรมการประกวดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลงานทางวิชาการ/นวัตกรรมผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา4.  กิจกรรมท่องโลกศึกษาทัศนาเมืองตักสิลา5.  กิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสาน
6.  กิจกรรมประชุมทางวิชาการ ศิลปหัตถกรรมนักเรียนวิชาการ
     ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน นับนิ้วมือ ได้  99  ปี แล้ว   ที่เขาว่าเวลาเปลี่ยน  อะไรๆ ก็เปลี่ยน  เห็นจะจริงดังว่า  ดูแต่จุดมุ่งหมายของการจัดงานก็พอจะเดาออก  แต่จะอย่างไรก็ตามชื่อของงานก็ยังคงเอกลักษณ์และการันตีคุณภาพได้เป็นอย่างดี
        ในฐานะของนักการศึกษาอย่างพวกเราคงจะต้องมองไปข้างหน้าเป็นสำคัญ  ก็ขอให้พี่น้องเราได้ช่วยกันขับเคลื่อนการศึกษา ให้สมกับคำขวัญการจัดงานที่ว่า

       สุดยอดเด็กไทย ก้าวไกลในอาเซียน


ขอบคุณข้อมูล    http://www.Kroobannok.com