วันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

วารสารฉบับ25

                                               ทักทายกัน....ประสาพี่น้อง
    ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา กระผมได้ร่วมแสดงความยินดีกับท่าน ผอ. อนุโรจน์ รุจิยาปนนท์ ย้ายไปที่ รร.บ้านละมงค์ และ ผอ.ปรีชา  กาบทอง ย้ายจาก รร.บ้านตะโนน ไป รร.วันเจริญสามัคคี  ทั้งสองท่านถือเป็นพี่ชายที่เคารพ  เป็นผู้ที่มีความสามารถด้านการบริหารอย่างดี  เชื่อมั่นว่าจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาการศึกษาของบ้านเราให้รุดหน้าอย่างแน่นอน ขอเป็นกำลังใจและยินดีด้วยนะครับ
         แต่สำหรับ รร.ของเรา ค่อนข้างจะหงอยๆ  เนื่องจากคุณครูไข่เจียว  วาทศิลป์  บุญสูง ย้ายกลับบ้านที่ อ.ปราสาท จากเดิมมีครู 7 คน ครบชั้น ตอนนี้ก็เลยมีไม่ครบ  ทำให้พี่น้องเราโกลาหลกันพอสมควร เพราะว่ากิจกรรมต่างๆ ยังคงต้องดำเนินไปตามแผนที่วางไว้  แม้ว่าต้องเหนื่อยกันมากขึ้น แต่ก็ยังคงยิ้มได้ เพราะพวกเราเชื่อว่า  ที่นี่คือบ้านของเรา
          แว่วมาว่า ต้นเดือนหน้าจะได้ครูมาแทน  ถือเป็นข่าวดีอย่างที่สุด  เพราะปัญหาครูไม่ครบชั้นเป็นเรื่องหนักใจอย่างยิ่ง ต้องขอขอบคุณ สพป.สร.3 อย่างสูง  ที่ไม่ทิ้งขว้าง รร.เล็กๆ อย่างเรา   ขอบคุณครับ....


                                                                 ปราโมทย์  พลศักดิ์เดช
กิจกรรม
-กิจกรรมไหว้ครู  ปี 56  (13 มิ.ย.56)
-ไปส่งครูวาทศิลป์  บุญสูง ที่ รร.ปราสาท  (14 มิ.ย.56)
-ร่วมงานบุญบั้งไฟบ้านรัฐราษฎร์ฯ  (23 มิ.ย.56)
-กิจกรรมวันสุนทรภู่และวันต่อต้านยาเสพติด (26 มิ.ย.56)

เก็บเรื่องราวมาเล่าบอก
                      .......ศธ 1   จาตุรนต์  ฉายแสง.......      
                 30 มิ.ย. 56 ที่ผ่านมา  กระทรวงศึกษาธิการของเราได้ รมต.คนใหม่  แต่หน้าตาอาจจะคุ้นเคยกันบ้างแล้ว   วารสารฉบับนี้จึงขอจูงมือทุกท่านไปรู้จักกับ ท่าน ศธ1  คนใหม่             ในบางแง่มุม นะครับ...........
                      ภูมิหลังและการศึกษา
      นายจาตุรนต์  ฉายแสง  เกิดเมื่อ 1  ม.ค. 2499  อ.เมือง  จ.ฉะเชิงเทรา เป็นบุตรคนโตของนายอนันต์ ฉายแสง อดีต ส.ส.ฉะเชิงเทรา และ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมัยรัฐบาลของ  ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี 
ท่านเรียนหนังสือชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ ในจังหวัดบ้านเกิด จบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย หลังจากนั้น ได้สอบเข้าเรียนต่อที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมทั้งทำกิจกรรมนักศึกษาไปด้วยจนได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และขณะที่ยังเรียนชั้นปีที่ 4 ได้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 มีการกวาดล้างผู้นำนักศึกษา ทำให้เขาต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในป่าระยะหนึ่ง โดยใช้ชื่อจัดตั้งว่า "สหายสุภาพ" ภายหลังสถานการณ์คลี่คลายจึงกลับเข้าเมืองและตัดสินใจไปศึกษาต่อจนสำเร็จปริญญาตรี และปริญญาโท ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์ก ที่บัฟฟโล สหรัฐอเมริกา และได้รับทุน Teaching ของมหาวิทยาลัยอเมริกัน เรียนต่อระดับปริญญาเอก แต่ต้องกลับประเทศไทยเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร      ในปี พ.ศ. 2529 และได้รับการเลือกตั้งในครั้งนั้น

                   ครอบครัว

     นายจาตุรนต์  ฉายแสง สมรสกับ นางจิราภรณ์  ฉายแสง อดีตเลขานุการหน้าห้อง ของนายพิศาล มูลศาสตร์สาทร ขณะดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยพิธีหมั้นของเขา มี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพฝ่ายชาย และมี นายแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวัง เป็นเจ้าภาพฝ่ายหญิง โดยมี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นประธานในพิธี

                       ตำแหน่งบริหารที่สำคัญ                                                                                              

พ.ศ. 2539 - 40  เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง                               

พ.ศ. 2544 เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี           

พ.ศ. 2545 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม   และตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี                                                                          

พ.ศ. 2548   เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ                                                                                       

พ.ศ. 2556   เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 

                          เกียรติรางวัลที่เคยได้รับ                                                    
 -รางวัล "นักการเมืองมาตรฐานแห่งปี 2542” จากสมัชชา สสร.แห่งประเทศไทย                                                                       
-พ.ศ. 2542 นิตยสารเอเชียวีค (Asia Week) จัดให้เป็น 1 ใน 20 ผู้นำชาติในเอเชีย ที่มีบทบาทในศตวรรษที่ 20                           
-นิตยสารต่างประเทศยกย่องให้เป็น 1 ใน 4 ผู้นำรุ่นใหม่ของประเทศไทยในปีเดียวกัน                                                          
-พ.ศ. 2543 รัฐบาลออสเตรเลีย เชิญเป็นแขกของรัฐบาลในฐานะนักการเมืองรุ่นใหม่ที่ทำประโยชน์ในสังคม                       
-พ.ศ. 2545  รับรางวัล ลี กวน ยิวจากประเทศสิงคโปร์  ซึ่งนับเป็นคนไทยคนที่ 2 ที่ได้รับรางวัลนี้ (คนแรกคือ พันตำรวจโททักษิณ  ชินวัตร ในปี 2538)                                                          
-รางวัล "บุคคลผู้มีอิทธิพลต่อสังคมไทย" (Thailand key's maker) ปี พ.ศ. 2546 จากการโหวตของประชาชนผ่านคลื่น 101 News Channel  ด้วยผลงานการจัดระเบียบโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ เมื่อปี 2547
      
      เมื่อดูเส้นทางชีวิตของ ศธ1 คนนี้แล้ว ต้องยอมรับว่าท่านเป็นคนที่เก่งทั้งบู๊และบุ๋น ซึ่งนับเป็นกำไรสำหรับพี่น้องครูเรา และเชื่อว่าท่านจะเป็นผู้นำในการพัฒนาการศึกษาของบ้านเมืองเราเป็นอย่างดี

ขอบคุณข้อมูล :  http://th.wikipedia.org