วันอังคารที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2556

วารสารฉบับที่22


ทักทายกัน....ประสาพี่น้อง
ข่าวคราวเกี่ยวกับการสอบโอเนตที่ผ่านมายังคงมีมาเรื่อยๆ ซึ่งเจตนารมณ์ของการสอบนั้นชัดเจนตามแนวทางที่ว่าไว้ในตัวบทกฎหมาย  แต่พอลงสู่การปฏิบัติก็มีการแตกประเด็นเป็นระเบียบ ข้อบังคับ แยกย่อยลงไป ซึ่งทำให้เกิดผลได้และผลเสียต่อผู้สอบ เมื่อมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น จึงต้องแก้ไขอย่างรอบคอบระมัดระวัง เพื่อมิให้การพัฒนาการศึกษาผิดทิศผิดทางไป
        ขอเป็นกำลังใจให้คุณครูที่ตั้งใจสอนอย่างเต็มกำลังและขอให้นักเรียนทำหน้าที่ของตนให้ดี จึงขอมอบหัวใจสีชมพูในเดือนแห่งความรักที่ผ่านมานี้ ให้กับทุกคนนะครับ

                                                      ปราโมทย์  พลศักดิ์เดช
-เข้าค่ายลูกเสือ ที่ ตชด. 214 อ.สังขะ จ.สุรินทร์ (28 ก.พ. 56)
- การอบรมธรรมสัญจร (15 ก.พ.56)
-ป.3 สอบ NT   (21 ก.พ.56)
-สร้างศาลาหลังใหม่สำหรับผู้ปกครองมารอรับนักเรียน (21 ม.ค.-10 ก.พ. 56)
-ทาสีรั้วโรงเรียนให้สวยงาม (28 ม.ค.- 14  ก.พ. 56)

..333 ปี จากจินดามณี ถึง TABLET...
         ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าเทคโนโลยีในยุคนี้ไปไกลเอามากๆเลยละครับ อย่างเช่นโทรศัพท์มือถือ เป็นได้ตั้งแต่โทรศัพท์  วิทยุ กล้องถ่ายรูป วีดีโอ โทรทัศน์ เกมและอื่นๆ รวมอยู่ในเครื่องเดียว ซึ่งถ้ารู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์ เทคโนโลยีเหล่านี้ก็เป็นดั่ง แก้วสารพัดนึก  เลยทีเดียว
ปีที่ผ่านมารัฐบาลจ่ายเงินไปกว่า 1,794 ล้าน เพื่อให้นักเรียนชั้น ป.ราว แปดแสนกว่าคนได้ใช้ tablet โดยหวังว่าเด็กจะมี แก้วสารพัดนึก  เพื่อที่จะเข้าถึงองค์ความรู้ผ่านวิธีการและสื่อเทคโนโลยีที่หลากหลายสนุกสนาน เพื่อพัฒนาตนเองให้เป็นคนที่ถึงพร้อมด้วยความรู้ คุณธรรม จริยธรรม สามารถดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นสุข  ทั้งยังมุ่งให้นักเรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้ที่นำไปสู่ระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเกิดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21 คือ เป็นคนใฝ่รู้ ใฝ่เรียน มีความรับผิดชอบ เกิดทักษะในการติดต่อ สื่อสาร สร้างสรรค์และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ ส่งผลไปสู่การมีผลสัมฤทธิ์ของ 5 วิชาหลักที่สูงขึ้น           ผ่าน1 ปีการศึกษาแล้ว แต่ละโรงเรียนคงจะมีการประเมินผลการใช้ tablet อย่างแน่นอน ซึ่งอาจจะเป็นการสังเกต สอบถาม หรือลึกลงไปถึงผลการเรียนรู้ของเด็ก  มีเสียงสะท้อนมาอย่างไร ยังไม่ทราบแน่ชัดคงต้องตามดูกันต่อไป แต่สำหรับข้าพเจ้าในฐานะของผู้บริหารเมื่อได้ประเมินแล้วก็มีทัศนคติที่เป็นบวกอยู่ในระดับหนึ่ง เพราะการเรียนรู้ของเด็กเป็นไปในทิศทางที่ดี  จะอย่างไรก็ตามการจัดการเรียนรู้ก็ยังคงพึ่งพิงสามองค์ประกอบหลักอยู่ดี อันได้แก่ ผู้เรียน ผู้จัดการเรียนรู้และเครื่องมือช่วยเรียนรู้  ทุกส่วนจะต้องประสานกันอย่างลงตัว  ครูเราในฐานะของผู้จัดการเรียนรู้จะต้องรู้เท่าทันหรือถ้ารู้มากกว่าเทคโนโลยีก็ยิ่งดี เพราะจะได้ช่วยกรองและกรอบความคิดในการเรียนรู้ของผู้เรียนให้เหมาะสม  ตัวผู้เรียนเองนั้นสำคัญยิ่งเพราะถ้ามีความพร้อมการเรียนรู้ก็ไปได้เร็ว  แต่อุปสรรคสำคัญคือสภาพสังคมที่มีความเสี่ยงแทบทุกด้าน อาจส่งผลให้เด็กเรียนรู้ผิดทิศทางไป  ก็ได้แต่หวังว่าทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนจะประสานมือกันเพื่อโอบกอดศิษย์ลูกให้อุ่นกายสบายใจในการเรียนรู้สู่ความเป็นคนที่สมบูรณ์อย่างที่บ้านเมืองมุ่งหวัง    ในส่วนของเครื่องมือช่วยในการเรียนรู้ ปัจจุบันมีหลากหลายให้เลือกใช้จนน่าอิจฉา   ซึ่งถ้าย้อนไปสักสามสี่ชั่วอายุคนที่ผ่านมานั้นการจัดการเรียนรู้ของไทยเป็นไปด้วยความอัตคัดขาดแคลน ว่ากันว่า แบบเรียนเล่มแรกของไทยที่เป็นเครื่องมือช่วยในการเรียนรู้นั้นมีขึ้นสมัยอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์-มหาราช โดยพระโหราธิบดี (บิดาศรีปราชญ์) เป็นผู้เขียน มีเนื้อหาเรื่องการใช้สระ พยัญชนะ  วรรณยุกต์ การแจกลูก การผันอักษร อักษรศัพท์  อักษรเลข การสะกดการันต์ และ การแต่งคำประพันธ์ชนิดต่างๆ  ซึ่งปรากฏกลบท  ๖๐ ชนิด ใช้ชื่อว่า จินดามณี เพราะหมายถึง แก้วสารพัดนึก  โดยมีเจตนาให้เด็กไทยได้ฝึกอ่านเขียน ให้มีความรู้ประหนึ่งมีแก้วสารพัดนึกอยู่ในมือ นั่นเอง 

         “แก้วสารพัดนึก ของวันนี้กับเมื่อ 333 ปี ที่แล้ว มีรูปร่างหน้าตาเปลี่ยนไป พอดู แต่เป้าประสงค์ก็ยังคงมุ่งให้ผู้เป็นเจ้าของได้เรียนรู้เพื่อสร้างสุขแก่ชีวิตของตนและอยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างปกติ นั่นเอง

 ขอบคุณข้อมูล    http://www. pasasiam.com , http://th.wikipedia.org  , www.otpc.in.th


...คนเด่นประจำเดือน....

เด็กหญิงปาริฉัตร  วรรณฤทธิ์
น้องปู
20  พฤษภาคม 2543
ตำแหน่ง
คณะกรรมการนักเรียนร.ร.รัฐราษฎร์พัฒนา
ความภูมิใจ  เหรียญทอง ลำดับ 3 จากงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับเขต สพป.สร.3  รายการ โครงงานสุขภาพ          
        ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน