วันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วารสาร17


       ทักทายกัน....ประสาพี่น้อง
       เริ่มต้นเดือนด้วยการเลี้ยงส่งครูสฤษฎ์พงศ์ ถนัดเพิ่ม (นิน) และส่งท้ายด้วย เลี้ยงเกษียณ (ลาออก) นายมนต์  บุทอง (ตามน) ช่างไม้ 3    ใจหายนะครับสำหรับ 2 คนที่จากโรงเรียนเราไป  แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นธรรมดาของข้าราชการอย่างเรา
ขอขอบคุณทั้งสองท่านที่ได้ทุ่มเททำงานอย่างเต็มกำลังเมื่อครั้งอยู่ด้วยกัน ก็ขอให้ได้พบเจอแต่สิ่งที่ดีงามนะครับ
     ช่วงกลางเดือนเด็กๆ ได้ร่วมแข่งขันวิชาการเครือข่าย 23 ที่ ร.ร.บ้านตะโนน ครูของเรา 7 คน ส่งเด็ก 52 คน ใน 31 รายการ
ได้ 16 ทอง 6 เงิน 7 ทองแดง (เป็นตัวแทนเครือข่าย 5 รายการ) ต้องขอบคุณคณะครูที่ได้ร่วมฝึกซ้อมอย่างแข็งขันและที่สำคัญคือ ขอบใจเด็กๆ ที่ได้ตั้งใจและร่วมแข่งขันอย่างสมศักดิ์ศรีทุกคน นะครับ
เก็บเร่ืองราวมาเล่าบอก
...ทบทวนคำโบราณ  ในกาลปัจจุบัน....
        ความฮือฮาในช่วงเดือนที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นการท้าทายและทวงถามให้ทบทวนความถูกต้องของภาษิตโบราณ
    “รักวัวให้ผูก รักลูกให้(ตี หรือ กอด)”  ที่คนไทยใช้เป็นแนวทางสอนลูกหลานกันมารุ่นต่อรุ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าคิดอยู่ไม่น้อย ในสังคมยุคลูกเทวดา อย่างนี้  แต่ข้อสรุปจากราชบัณฑิตยสถาน คือ ไม่เปลี่ยน   ก็เป็นอันว่า จบข่าว
ส่วนวงสนทนารอบนอกอย่างเราๆ ท่านๆ ก็คงได้คุยกันอีกยาวละครับ
       เพื่อไม่ให้ตกกระแส ผมก็เลยลองมองหาภาษิตและคำสอนที่เกี่ยวกับเด็กๆ และการศึกษาของเรา ว่ามีอะไรพอจะหยิบยกมาเป็นประเด็นได้บ้าง ก็ไปสะกิดใจกับคำสอนร่วมสมัยที่ว่า เด็กๆ ต้องเรียนให้มาก โตขึ้นจะได้สบาย  ฟังเหมือนไม่มีอะไรนะครับ  จนกระทั่งหลายวันก่อน ญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง แกล้งกระเซ้าผมว่า เป็น ผอ. แล้วคง สบาย ขึ้นนะ ผมจำไม่ได้แล้วว่าตอบท่านไปอย่างไร แต่คำถามนี้มันรบกวนจิตใจผมมาตลอด ทำให้ผมสงสัยว่าคนส่วนใหญ่ ตีความว่า สบาย คืออะไร  เมื่อย้อนดูการทำงานร่วมกับพี่น้องเพื่อนครูของผมตลอดสิบห้าปีมานี้  พบความจริงที่น่าตกใจประการหนึ่งว่า พลังแห่งการสร้างสรรค์ การพัฒนาและความตื่นตัวของครูถูกจำกัดและแห้งหายไปเรื่อยๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้วงการครูของเราสูญเสียอัจฉริยภาพในตัวครูไปอย่างน่าเสียดาย  เป็นไปได้หรือไม่ว่า ครูเรากำหนดใจไปบังคับกายให้เชื่อว่า ความสบาย คือ การทำงานให้น้อยลง  ผ่อนแรงลง จนถึงขั้นไม่ทำอะไรเลย (ด้านวิชาการ) ท่านว่าจริงมั้ย....
           คำสอน ที่ให้เด็กๆ ทำทุกอย่างเพื่อให้โตขึ้นจะได้ สบาย นั้น เดินมาถูกทางมากน้อยเพียงใด
ถ้าเด็กๆ คิดว่าการพ้นวัยเด็กคือการมีงานทำ ความสบาย จะมาหา ดังคำสอนข้างต้น   และถ้าเขาเชื่อว่าความสบาย คือ การหยุดคิด
 หยุดพัฒนา แล้วหันมาดื่มด่ำกับความสะดวก นานาประการแล้วนั้น   ภาพของสังคมเราในภายหน้าจะเป็นอย่างไร?
    ฝากไว้ให้คิด  
      ลองย้อนดูเส้นทางชีวิตของตนเองตั้งแต่เป็นเด็กสิครับ ว่าก่อนที่จะมายืน ณ จุดนี้ได้นั้น เราต้องอดทน และเพียรพยายามมากเพียงใด  เก่งกาจขนาดไหน แล้วเราจะทิ้งพลังแห่งความอหังการของเราไป เพียงเพราะความอยากสบาย เท่านั้นหรือ
   บทส่งท้าย                                                                               
ภาษิตหรือคำสอน นั้นอาจจะไม่ใช่ทั้งหมดที่สร้างให้เราเป็นเรา     แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันสอดซ่อนอยู่ในความเชื่อ มาสู่วัตรปฏิบัติ     จนกลายเป็นกฎเกณฑ์และหล่อหลอมเป็นวิถีชีวิตของเราในที่สุด
    ผมไม่ได้มีเจตนาที่จะเรียกร้องให้เปลี่ยนคำสอนไปตามกระแส          หรอกนะครับ เป็นเพียงการตั้งข้อสังเกต ในแง่มุมนักการศึกษา ซึ่งมีหน้าที่สร้างคนเพื่อจรรโลงสังคมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน เท่านั้น   
      ถ้อยคำอาจไม่ต้องเปลี่ยน ที่ควรเปลี่ยนคือความคิดและความเชื่อ เพราะมันจะช่วยปรับแนวทางชีวิตของเราให้ถูกต้อง  นั่นเอง       
 ขอบคุณข้อมูล    http://www.kruthai.infoและ www.google.co.th

....แนะนำบุคลากร.....

ฉายา     พระพุทธา    จตฺมโล          เจ้าอาวาสวัดห้วยเสน

      สถานะ
   คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานร.ร.รัฐราษฎร์พัฒนา    ท่านเป็นผู้นำในการพัฒนาคุณธรรมของคนในชุมชน และวัดห้วยเสนเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญยิ่งของพวกเรา

ธรรม  ย่อมรักษา  ผู้ประพฤติธรรม