วันศุกร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2556

สารสารฉบับที่27

ทักทายกัน....ประสาพี่น้อง
        งานวันแม่และทำบุญโรงเรียนในปีนี้ จัดขึ้นเร็วกว่าทุกปี  แต่ว่าร่วมงานมีบรรยากาศยังคงขลังอยู่เช่นเดิม  ถึงแม้ว่าแม่เกือบครึ่งไม่ใช่แม่ แต่เป็นยายเป็นย่า ก็ตามที่  ภาพที่ลูกๆ คลานไปกราบแม่คลอกับเสียงเพลง ค่าน้ำนม นั้นเป็นภาพอมตะ ที่แสดงอัตลักษณ์ของสังคมไทยได้อย่างชัดเจน  สำหรับการแข่งวิชาการระดับเขตในปีนี้ เราส่ง 3 รายการ  ได้มา 3 เหรียญเงิน ใกล้เคียงสุดคือ โปรแกรมGSP ได้ลำดับ 4  ช่วงปลายเดือน เด็กๆ  ร่วมแข่งขันกีฬา สพฐ. อย่างสนุกสนาน  ซึ่งในการร่วมกิจกรรมทั้งกีฬาและวิชาการย่อมมีสมหวังและผิดหวัง ระคนกันไป แต่สิ่งเหล่านี้เองที่เป็นเครื่องมือเรียนรู้อย่างดีเยี่ยมของเด็กๆ  ต้องขอขอบคุณคณะครูและนักเรียนที่ตั้งใจฝึกซ้อมและร่วมแข่งขันอย่างสมศักดิ์ศรี  

                                                       .......ปราโมทย์  พลศักดิ์เดช
กิจกรรม
-กิจกรรมวันแม่  (8 ส.ค. 56)   
รับขวัญน้อง ออกัส ลูกชายครูก่อเกียรติ (15 ส.ค. 56)
-วิทยากรภูมิปัญญา สอนทำไม้กวาด (27 ส.ค. 56)
-เด็กๆ ร่วมแข่งวิชาการที่เขต (11,17 ส.ค. 56)
-  กิจกรรม  เฉลิมพระเกียรติพระแม่ของแผ่นดิน นวศิลป์สู่อาเซียน” (10 ส.ค.56)

          .......ความลับเบื้องหลังบทเพลง.......
              ในงานเลี้ยงเล็กๆ งานหนึ่ง ท่าน ผอ.สงวน  ศาลางาม ได้ร้องเพลงที่มีเนื้อหาจับใจมากเพลงหนึ่ง   ผมจึงพยายามหาข้อมูล และพบว่า เป็นเพลง เสียงแคนจากแมนชั่น  ขับร้องโดย ไหมไทย และแต่งโดย วีระ สุดสังข์  คนศรีสะเกษ  กั้นเอ้ง...     พอค้นต่อไปจึงได้รู้ว่า ครูวีระ เคยใช้นามปากกา  ฟอน  ฝ้าฟาง     เป็นสมาชิก กลุ่มวรรณกรรมลำน้ำมูล ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของหนุ่มสาวนักคิดนักเขียนแถบอีสานใต้ ในช่วงปี 2525-2529 ที่เรารู้จักก็มี สลา  คุณวุฒิ ,วสันต์ สิทธิเขต, ไพวรินทร์ ขาวงาม ,พงษ์สิทธิ์  คัมภีร์  เป็นต้น ซึ่งรายแรกและรายหลังนั้น คิดว่าคนส่วนใหญ่คงคุ้นชื่อกันดี จากผลงานการร้องและการแต่งเพลงที่โด่งดัง กระทั่งทุกวันนี้
        คนกลุ่มนี้อยู่ในยุคการแสวงหารุ่นที่สองต่อจาก ยุคตุลา16 ที่หลบหนีเข้าป่า  ชื่อของน้าหงา สุรชัย จันทิมาธร  และสมาชิกวงคาราวาน ก็ยังคงมีเสน่ห์อยู่เสมอในบรรยากาศที่เรียกว่า เพื่อชีวิตและยังรวมถึงนักคิดนักเขียนแถวหน้าของเมืองไทยอีกไม่น้อย 
หากพูดถึงต้นธารของนักคิดนักเขียนรุ่นครูจริงๆ นั้น ในแถบอีสานบ้านเราก็ต้องนึกถึง เปลื้อง วรรณศรี  ผู้ร่วมขบวนการและถูกจับ ข้อหา กบฏสันติภาพ 10 พฤศจิกายน  นเรศ นโรปกรณ์ เจ้าของสำนวน สาวเอยจะบอกให้ รวมทั้ง ฉัตร บุญยศิริชัย เจ้าของนามปากกา ศักดิ์ สุริยาและ จารึก ชมภูพล เจ้าของเรื่องสั้น ปลาซิวตัวสุดท้ายในทุ่งกุลา    ถัดมาจึงเป็นยุคของสหายนักแสวงหา ซึ่งได้กลายเป็นตำนานที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย   
           นักคิดนักเขียนเหล่านี้ เปรียบไปก็เหมือนหมุดที่ปัก ณ จุดต่างๆ ในแผนที่ของบ้านเมืองเรา มีเส้นสายที่เชื่อมโยงถึงกันและมีส่วนในการกำหนดทิศทางของสังคม ซึ่งจะว่าไปก็คือคนเขียนประวัติศาสตร์นั่นเอง  แต่โลกาภิวัตน์ได้เปิดประตูรับกระแสบริโภคนิยมที่เน้นสวย หล่อและฟุ้งเฟ้อ  ซึ่งอาจจะทำให้สังคมเราล่มสลายโดยไม่รู้ตัว  นับเป็นสิ่งที่น่าห่วงใยยิ่งนัก  คนรุ่นหลังๆ อย่างพวกเราจะมีสักกี่คนที่พยายามค้นหารากเหง้าของตนเอง เพื่อทำความเข้าใจและเพื่อเป็นฐานในการคิดสำหรับกำหนดอนาคตที่เหมาะควรทั้งต่อตนเองและสังคม
       ย้อนไปราวๆ 20 ปีก่อน สมัยผมยังเป็นนักศึกษาหน้าละอ่อนแห่งมอดินแดง  ได้มีโอกาสฟัง น้าหงา คาราวาน ร่ายบทกวีคลอเสียงกีตาร์ของ พี่ปู  คัมภีร์   ณ ลานสโมสรนักศึกษา  เมล็ดพันธุ์แห่งการแสวงหาก็เติบโตขึ้นในใจผมนับแต่นั้น เพลงเพื่อชีวิต เสียงกีตาร์และบทกวีการต่อสู้ คือสิ่งประโลมใจอันสำคัญยิ่งในรั้วมหาวิทยาลัยแดนอีสาน  ต่อเมื่อมาเป็นครูแล้วก็ยังคงชื่นชมและติดตามผลงานของนักคิดนักเขียนและนักแสวงหาเหล่านั้น
        บทเพลงบางเพลงสำหรับบางคน ก็อาจเป็นเพียงเพลงดาดๆ ทั่วไปเท่านั้น แต่สำหรับบางคนอาจมีความหมายมากกว่านั้น   เพราะบทเพลงได้ขูดคราบแห่งความเชื่อและกะเทาะสนิมของค่านิยมที่บิดเบือน  ทำให้เราได้เห็นตนเองชัดขึ้น   การได้ฟังเพลงที่ไพเราะ ซึ่งกลั่นมาจากความคิด ความเชื่อที่มีคุณค่าดังที่ได้กล่าวข้างต้นนั้น ก็เพียงพอและสุขใจแล้ว.............
 ขอบคุณข้อมูล    http://www.oknation.net   ครูเยี่ยม  ทองน้อย
                             เจนอักษราพิจารณ์และ ผอ.สงวน  ศาลางาม

                      ....ฮาเฮ   เสมา ....

ตอน    นรก กับ สวรรค์
ครู:  ระหว่าง สวรรค์ กับ นรก  ท่านอยากไปที่ไหน ?
นักการเมือง:  ไป นรก     
ครู:  ทำไมละ   ?!?
นักการเมือง:  ที่ นรก  มีคนลำบากอยู่มาก และการเป็นอยู่ก็
           ยังไม่ได้รับการพัฒนา  จึงจำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือ
            และปรับเปลี่ยนโครงสร้างในหลายๆ ด้าน
ครู:      ?????!!!?????