วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2556

วารสารฉบับที่ 20


ทักทายกัน....ประสาพี่น้อง
          ฤดูหนาวในเดือนธันวาคมที่ผ่านมานั้นร้อนเหลือเกิน  แต่กิจกรรมสำหรับเด็กๆ ก็ยังคงดำเนินไปตามวงรอบของการพัฒนาตามแผนที่วางไว้เริ่มต้นเดือนด้วยการไปให้กำลังใจนักเรียนและชมนิทรรศการในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ จ.ชัยภูมิ  ปิดท้ายด้วยการร่วมแข่งขันกีฬาเครือข่ายที่ 23  ซึ่งกิจกรรมที่งอกเข้ามาในแต่ละครั้งนั้นก็ต้องหยุดเรียน รวมๆ แล้วแทบจะ 1 ใน 4 ของเวลาทั้งหมด จึงเกิดคำถามว่าที่ทำมามันถูกทางหรือไม่ ผลสัมฤทธิ์ที่เป็นปัญหานั้นเกิดจากกิจกรรมที่เพิ่มมาหรือเปล่า ก็ว่ากันไปละครับ แต่ผมเชื่อว่านี่แหละคือสีสันของการเรียนการสอนและเป็นสีสันของชีวิตด้วย

                                               สวัสดีปีใหม่  2556  ครับ

กิจกรรม
    -ร่วมพิธีถวายพระพรในหลวง ณ อ.ศรีณรงค์ (5 ธ.ค.55)
   -ดูงานแสดงผลงานนักเรียนระดับภาค ที่ จ.ชัยภูมิ  (7 ธ.ค. 55)   ทีมแข่ง GSP ของเราได้เหรียญเงิน ลำดับที่ 43
รถตู้ 1 คัน บรรทุกนักเรียน 6  ครู 8  มีความสุขสนุกสนานผสานความรู้
 -รถ Mobile ของ อบจ.สุรินทร์ มาให้บริการเด็กๆ(12ธ.ค.55)
   -งานกีฬาเครือข่าย ศรีณรงค์ 2 ประจำปี 2555 ณ ร.ร.บ้านโสน (26-28 ธ.ค. 55)
ผลงาน  1 เหรียญทอง ตะกร้อชาย 12  ปี   1 เหรียญทองแดง ฟุตบอลอนุบาลหญิง


                             ...เต่ากับกระต่าย...
     อมตะนิทานเรื่อง กระต่ายกับเต่า ของอีสป สอนเราให้พากเพียรเยี่ยงเต่าและอย่าประมาทเช่นกระต่าย ซึ่งกระต่ายกับเต่าเหล่านั้นได้เติบใหญ่ขึ้น และได้บ่มเพาะลูกหลานไว้อย่างมากมาย  มุมดีๆ เรื่องความเพียร น่าชื่นชมยิ่งนัก แต่มุมบอดเรื่องแพ้ชนะ นั้นน่ากลัวไม่น้อยทุกวันนี้การแข่งขันกันมีทุกด้านและเกิดขึ้นทุกแง่มุมของชีวิต เรื่องแพ้ชนะจึงวนเข้าเวียนออกจนกลายเป็นเรื่องปกติและถูกยอมรับว่าธรรมดาเสียแล้ว
    ในระดับมหภาค การแข่งขันรุนแรงและเกรี้ยวกราดมากแทบทุกประเทศมีกองทัพที่พร้อมแสดงแสนยานุภาพ มีกล-ยุทธทางเศรษฐกิจที่พร้อมจะชนะตลอดเวลา  มีเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ภาพที่ปรากฎ คือ กระต่ายยังคงวิ่งไปไม่ยอมหยุดพัก เต่าก็เพียรพยายามไล่ตามอย่างไม่ลดละการหันหน้าหากันและจับมือช่วยเหลือกันอย่างจริงใจนั้นเป็นเรื่องยากยิ่ง   แล้วที่สุดของที่สุดจะหยุดตรงไหนย้อนมองมาที่โรงเรียน การจัดการเรียนการสอนของครูเรานั้นให้แง่คิดและมุมมองใดแก่เด็ก เพราะในบางสถานการณ์เราก็เป็นเช่นกระต่าย แต่บางโอกาสเราก็กลายเป็นเต่า  หากเอาเส้นชัยเป็นเป้าหมาย ก็ย่อมต้องมีผู้ชนะและผู้แพ้ ซึ่งเป็นสองสิ่งที่ยากจะบรรจบกัน หลักคิดที่จะปลูกฝังให้กับเด็กๆ นั้น ควรเป็นอย่างไร เพื่อให้เขาเหล่านั้นใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขบนความสมเหตุสมผล
     มีแนวคิด ทฤษฎีทั้งของฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกที่นำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตให้เป็นสุข ซึ่งครูเราสามารถค้นคว้ามาใช้สำหรับเติมเต็มเป็นหลักคิดให้นักเรียนได้ แต่ทางเลือกที่น่าสนใจมากๆ คือหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง เพราะได้ตอบโจทย์ที่เหมาะกับความเป็นไทยมากที่สุด กล่าวคือ โครงสร้างของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มี  3 ระดับ เริ่มตั้งแต่จัดการตนเองให้มั่นคง ต่อด้วยการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง และสรุปด้วยการสร้างเครือข่ายองค์กรที่ยั่งยืน ในแต่ละระดับจะมี 3 องค์ประกอบ คอยหล่อเลี้ยงให้วงจรขับเคลื่อนไปอย่างสมดุล  ได้แก่ พอประมาณ  มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน โดยมีความรู้และคุณธรรมเป็นหางเสือ ซึ่งเราจะพบว่าหลักการนี้ ไม่มีแพ้ ไม่มีชนะ มีเพียงเส้นชัยที่เราเห็นร่วมกันเท่านั้น    ในภาษาทางการทูตเรียกว่า win-win  คือได้รับประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย
   เมื่อเด็กๆ มีหลักคิดที่ดีและนำสู่การปฏิบัติได้ถูกการปรับทิศของสังคมให้ไปในทางที่เหมาะควรก็เป็นเรื่องไม่ไกลเกินเอื้อม  ซึ่งผลกระทบในระดับจุลภาคนี้จะเป็นตัวชี้นำความเป็นมหภาคด้วยเช่นเดียวกัน

       ถ้าตอนจบของนิทานกระต่ายกับเต่า มิใช่เต่าเข้าเส้นชัยเพราะพากเพียรและมิใช่กระต่ายตื่นขึ้นมาทันแล้วรีบวิ่งเข้าเส้นชัยก่อน หากแต่เป็นภาพที่ เต่าปลุกกระต่ายให้ตื่นขึ้นมาแล้วจูงมือกันเดินเข้าเส้นชัยอย่างเป็นสุขนั้น จะดีเพียงใด และคงไม่ทำให้ท่านอิสป ฟื้นขึ้นมาเอาเรื่องกับพวกเราหรอกกระมัง

ขอบคุณข้อมูล : 
เศรษฐกิจพอเพียง.net  และบทเพลงกระต่ายกับเต่า ของคาราวาน

...คนเด่นประจำเดือน....
เด็กชายผดุงเกียรติ  ทองคำ
น้องยิม
25 สิงหาคม 2543
ตำแหน่ง
ประธานนักเรียน
ร.ร.รัฐราษฎร์พัฒนา
ความภูมิใจ  เหรียญเงิน ลำดับ 43 จากงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับภาคปี 2555 รายการ โปรแกรม GSP 
           ตั้งใจเรียนวันนี้  อนาคตดีวันหน้า