วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

วารสาร ฉบับที่ 10

ทักทายกัน....ประสาพี่น้อง
      มกราคมที่ผ่านมานั้น  พี่น้องเพื่อนครูคงจะได้สนุกกับกิจกรรมดีๆ หลายอย่าง  อาทิ วันปีใหม่ วันเด็ก วันครู  เป็นต้น ล้วนแล้วแต่เป็นกิจกรรมรื่นเริงชวนให้รื่นรมย์ยิ่ง  โอกาสนี้ก็ขอแสดงความยินดีกับคุณครูของเรา 2 ท่าน คือ ครูพิกุลทอง  วงเวียน ได้รางวัลครูดีศรีณรงค์ และ ครูศิริลักษณ์ งอกงาม เป็นหนึ่งแสนครูดี ในงานวันครู55
     สำหรับเดือนกุมภาพันธ์  ทุกท่านคงทราบว่าเป็นเดือนแห่งความรัก ตามแบบสากลนิยม ดังนั้นตลอดทั้งเดือนหัวใจ ก็จะเป็นสีชมพู แต่ในวงการศึกษาของเรานั้นสีชมพูจะเข้มหรือจางยังไม่อาจบอกได้ ต้องรอผลสอบ o-net  ปลายเดือนนี้ก่อน หวังว่าคงจะได้ผลเป็นที่น่าพอใจ นะครับ
                              ........ขอเป็นกำลังใจให้ครับ.....           ปราโมทย์  พลศักดิ์เดช
        ....แนะนำบุคลากร.....
           นายอำนาจ   บุญล้อม
            ตำแหน่ง ครูธุรการ
             ชื่อเล่น  ทนายอ๋อง
             ว/ด/ป เกิด     24  เมษายน 2523
         คติ    
  ตนกำหนดชีวิตตน

เก็บเรื่องราวมาเล่าบอก
อธิกสุรทิน  อธิกมาส  อธิกวาร?
        คนรุ่นหลังๆ ได้ยินคำ 3 คำ นี้    แล้วอาจจะงงๆ ยิ่งไปดูในปฏิทินยิ่งยุ่งกันไปใหญ่  ดังนั้นฉบับนี้ขออนุญาตทำความเข้าใจกับระบบการนับวันนับเดือนกันนะครับ
     การนับวัน เดือน ปี นั้น อาศัยความสัมพันธ์ของตัวแปร  3  สิ่ง  คือ โลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ หากต้องการทำให้ปฏิทินคงที่นั้น  จะต้องมีการชดเชยเวลาแต่การชดเชยนั้นทำไม่ได้ เนื่องจากค่าเวลาจากคาบการโคจรและความ สัมพันธ์ ของ 3 ตัวแปรนั้นมันไม่ลงตัว เพราะทางจันทรคติ นับเวลา 1 ปีมี 12 เดือน เท่ากับ 360 วัน ส่วนทางสุริยคติ นับเวลา 1 ปี มี 12 เดือน เท่ากับ 365.2425 วัน (โดยเฉลี่ย)       จึงต้องมีวิธีพิสดารมาทำให้มันลงตัวเพื่อให้ตรงกับฤดูกาล และสังคมวัฒนธรรม ซึ่งประเทศไทยนั้นใช้ปฏิทินสุริยคติและจันทรคติ ร่วมกันจึงมีการคำนวณที่ยุ่งยากมาก  ผลจากการบวกทดเวลาทั้งทางสุริยคติและทางจันทรคติ ทำให้บางปีมีจำนวนวันที่มากขึ้น และมีคำศัพท์ที่เรียกปีพิเศษเหล่านั้น  ดังนี้นะครับ      
อธิกสุรทิน (อ่านว่า อะ-ทิ-กะ- สุ-ระ-ทิน) มาจากภาษาบาลีสันสกฤต         ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  หมายถึง "วันที่เพิ่มขึ้นในปีสุริยคติ คือในปีนั้นเพิ่มวันเข้าในเดือนกุมภาพันธ์ อีก 1 วัน เป็น 29 วัน"  ซึ่งตามธรรมดาเดือนกุมภาพันธ์ มี 28 วัน  จึงเรียกปีที่เดือน กุมภาพันธ์ มี 29 วัน ว่า  "ปีอธิกสุรทิน" โดยจะมี 4 ปี/ครั้ง ข้อสังเกตง่ายๆ คือให้เอาปี ค.ศ. ตั้งหารด้วยเลข 4  ถ้าหารลงตัวจะเป็นปีอธิกสุรทิน
       เหตุที่จะต้องมีปีอธิกสุรทินทุก 4 ปี เพราะตามระบบของปฏิทินทางสุริยคติ ในปีหนึ่งๆ นั้นตามความเป็นจริงมีจำนวนวัน 365.2425 วัน เมื่อรวมเศษที่ตกค้างในแต่ละปีให้เป็น 1 วัน ก็จะครบในทุก 4 ปี  และทำให้ปีนั้นมี 366 วัน  
         อธิกมาส หมายถึง เดือนที่เพิ่มขึ้นในปีจันทรคติ คือในปีนั้นมี 13 เดือน มีเดือน 8 สองหน สาเหตุที่ต้องเพิ่มเดือน 8 เข้าไปอีก 1 เดือน ก็เพื่อให้ปฏิทินทางจันทรคติเทียบกับปฏิทินทางสุริยคติได้ โดยจำนวนวันไม่ต่างกันมากเกินไป และเรียกปีที่มีเดือน 8 สองหนว่า "ปีอธิกมาส" ซึ่งจะปรับโดยมติของโหร ไม่มีระบบแบบที่คำนวณได้ตายตัว
          อธิกวาร หมายถึง วันที่เพิ่มขึ้นในปีจันทรคติ คือในปีนั้นเดือน 7 เป็นเดือนเต็มมี 30 วัน ตามปรกติเดือนที่เป็นเลขคี่ ในปฏิทินทางจันทรคติจะเป็นเดือนขาด มี 29 วัน และเดือนเลขคู่เป็นเดือนเต็มมี 30 วัน แต่ด้วยเหตุผลทำนองเดียวกันกับการเพิ่มเดือนเป็นอธิกมาส ในรอบประมาณ 5 ปีปฏิทินทางจันทรคติซึ่งแม้จะมีอธิกมาสแล้ว แต่ก็จะมีจำนวนวัน ต่างจากปฏิทินทางสุริยคติอยู่อีกหนึ่งวัน จึงต้องเพิ่มขึ้นเพื่อให้เท่ากันโดย เพิ่มวันเข้าไป ในเดือน 7 ทำให้เดือน 7 ในปีนั้นมี 30 วัน วันสุดท้ายของเดือน 7 ดังกล่าวจะเป็นวันแรม 15 ค่ำแทนที่จะเป็นวันแรม 14 ค่ำ เหมือนเดือนขาดทั่วไป วันที่เพิ่มเข้าไปนี้เรียกว่า อธิกวาร      ปีที่มีอธิกวาร เรียกว่า "ปีอธิกวาร"  ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับ ปีอธิกสุรทิน หรือ         ปีอธิกมาส ก็ได้
              ในปี พ.ศ. 2555 (ค.ศ.2012) นี้ เป็นปีอธิกสุรทินและปีอธิกมาส ขาดก็แต่อธิกวาร เหล่าบรรดาผู้ทำนายทายทัก นักพยากรณ์ ก็ว่ากันไปตามเรื่อง ในส่วนของเราที่เป็นนักการศึกษาก็หยิบยกเอาแต่ส่วนดีที่จะนำไปสู่การพัฒนามาใช้ก็แล้วกันนะครับ
ขอบคุณข้อมูล    http://www. 2-teen.com  /รศ. ดร. อมรา ประสิทธิ์รัฐสินธุ์